ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ สิ้นสุดที่อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม.มูลค่าเงินลงทุนสูง 224,544 ล้านบาท ยังเป็นที่จับตาของสังคมว่าสุดท้ายกลุ่มซีพีจะได้ฤกษ์จรดหมึกเซ็นสัญญาการก่อสร้างกับการรถไฟฯได้เมื่อใด
ฟากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย สายแรกและเฟสแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.วงเงินก่อสร้าง 179,413 ล้านบาท ที่ถูกจุดพลุโครงการมาตั้งแต่ปลายปี 57 โดยมีทั้งหมด 14 สัญญาการก่อสร้าง
โดยเฉพาะสัญญา 1 ระยะทาง 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ซึ่งเป็นสัญญางานถมดินคันทางในส่วนความรับผิดชองกรมทางหลวง นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปเป็นประธานปักหมุดก่อสร้างไปตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2560 แล้วนั้น
จนถึงวันนี้ความคืบหน้าการก่อสร้างแค่ 3.5 กม.ไปถึงไหนแล้ว ?
หลังสืบทราบความคืบหน้าโครงการฯนับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ การก่อสร้างเดินหน้าไปเพียง 58 % คาดกันว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งล่าช้าจากแผนเดิมที่ต้องแล้วเสร็จ ต.ค.ปี61
การก่อสร้างในปัจจุบันอยู่ในชั้นวัสดุก่อสร้างไปจนถึงชั้น Layer และกำลังขึ้นชั้นที่ 2 จากทั้งหมด 6 ชั้น ในส่วนชั้นที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 2 กม. และจะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนของการก่อสร้างทั้งหมดในส่วนนี้ในชั้น Top Layer สำหรับงานก่อสร้างส่วนที่เหลือจะเป็นในส่วนคอนกรีต ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่างานโยธาในช่วงแรก
ไม่แปลกอะไรที่ประชาชนคนไทยจะพากันตั้งข้อสงสัยว่าระยะทางแค่ 3.5 กม.ทำไมล่าช้าได้ถึงเพียงนี้!
ทั้งนี้ ต้องยอมรับแม้จะมีระยะทางแค่ 3.5 กม.แต่ประเทศไทยไม่เคยมีก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาก่อน จึงทำให้งานดูเหมือนจะง่ายกลายเป็นงานยาก เพราะทุกอย่างต้องผ่านการตรวจสอบจากทางการจีนเจ้าของเทคโนโลยี ที่ต้องคอยตรวจอย่างละเอียดยิบ
การดำเนินงานทุกอย่างจะถูกตรวจสอบและทดสอบคุณสมบัติต่างๆของวัสดุอุปกรณ์ ตลอดถึงการดำเนินงานจางที่ปรึกษาของทางการจีนอย่างละเอียด ตั้งแต่การจัดหาวัดสุก่อสร้าง การตรวจสอบวัสดุ การควบคุมงาน การปฏิบัติงานแต่ละชิ้นงานจะมีการทดสอบ ซึ่งต้องทำให้ตามมาตรฐานที่จีนกำหนด
ต้องลุ้นกันตัวโก่งกับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์สายแรกของประเทศไทย ในส่วนสัญญาก่อสร้างที่เหลือจะสามารถเดินหน้าได้สะดวกโยธินเหลือไม่?หรืออืดเป็นเรือเกลือเช่นเดียวกันสัญญา 1
…ปูเสื่อรอดูกันยาวไปพี่น้อง!