JCชูแนวคิด “K-Logistics” สู่เป้าบริษัทชั้นนำโลก

0
451

            สนามแข่งขันโลจิสติกส์ยุด 4.0 กลายเป็นธุรกิจที่ผุดขึ้นจำนวนมากราวกับดอกเห็ด  อีกทั้งยังมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นดุเดือด  แม้ในยามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว   อันเนื่องจากผลกระทบกับปัญหาสงครามการค้าโลกก็ตาม    

            ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่มัก เป็นผู้ประกอบการธุรกิจจากต่างชาติ   ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีการแข่งขันกันสูงมาก   ดังนั้น บริษัทโลจิสติกส์จำเป็นต้องงัดกลยุทธ์พัฒนาต่อยอดพิชิตคู่แข่งและ เพื่อเป้าหมายความสำเร็จทางธุรกิจในอนาคตอันใกล้        

              เช่นเดียวกับ  บริษัท ซีเจ โลจิสติคส์ ประเทศไทย จำกัด  ล่าสุด ได้ทำการต่อยอดขยายธุรกิจโลจิสติกส์สู่ตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ชูแนวคิด “K-Logistics” และเทคโนโลยีการจัดการพัสดุล้ำสมัย เพื่อตอบสนองตลาดขนส่งพัสดุไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับแพลตฟอร์มการขนส่งพัสดุเกาหลีให้เข้ากับประเทศไทย และก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางที่สามารถรองรับการจัดการพัสดุได้สูงสุดถึง 400,000 หน่วยต่อวัน

              ศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางของ ซีเจ โลจิสติคส์ ที่บางนา กรุงเทพฯ ซึ่งติดตั้งระบบคัดแยกกล่องแบบอัตโนมัติ wheel sorter ได้เริ่มนำร่องดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางดังกล่าว ใช้ระบบ wheel sorter เช่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งสามารถจัดการพัสดุได้สูงสุดถึง 400,000 ชิ้นต่อวัน ในพื้นที่กว่า 71,900 ตารางเมตร นับเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่พร้อมด้วยศักยภาพในการดำเนินการได้ถึง 13% ของปริมาณพัสดุทั้งหมดที่มีการจัดส่งรวมกว่า 3 ล้านชิ้นต่อวันในประเทศไทย

ปี 63 ตั้งเป้าผู้นำส่งพัสดุด่วน 4 แสนต่อวัน

             ตลาดขนส่งพัสดุไทยเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เนื่องด้วยการเติบโตของโทรศัพท์มือถือและการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว การทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 7 แสนล้านบาท (2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2560 และภายในปี 2563 คาดว่ากว่า 50% ของยอดขายปลีกทั้งหมดจะเกิดจากตลาดออนไลน์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ด้วยการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและการสนับสนุนระบบอีเพย์เมนต์ ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 จะนำไปสู่การเติบโตของตลาดโลจิสติคส์ของสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนอุตสาหกรรมการจัดส่งพัสดุ

               ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความสามารถในการรองรับการจัดการพัสดุทั้งหมดประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวันโดยเฉลี่ย โดยมี เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ไปรษณีย์ไทย และ DHL เป็นผู้เล่นรายหลักในตลาด ด้านซีเจ โลจิสติคส์ ตั้งเป้าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการการจัดส่งพัสดุ ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการนำเสนอบริการคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในประเทศเกาหลีและการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและอินฟราสตรัคเจอร์ที่สามารถจัดการพัสดุได้สูงสุดถึง 400,000 หน่วยต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงพัฒนาบริการและระบบการดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีไอทีระดับสูงจากประเทศเกาหลี เช่น ระบบการขนส่ง แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือสำหรับการทำธุรกิจ และระบบการติดตามสถานะการขนส่ง

              นายมยองกุก พัก กรรมการทั่วไป ธุรกิจขนส่งพัสดุ บริษัท ซีเจ โลจิสติคส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า  “ด้วยตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตที่สูงกว่าในอัตราเลขสองหลัก (double-digit) อย่างต่อเนื่องทุกปี และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอย่างดี เราเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านการจัดส่งพัสดุของประเทศไทย ด้วยการส่งต่อความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีเหนือระดับจากประเทศเกาหลี การพัฒนาอินฟราสตครัคเจอร์หลัก และการขยายจุดให้บริการทั่วประเทศไทย”

เครือข่ายแข็งในภูมิภาคอาเซียน

           นอกเหนือจากธุรกิจขนส่งพัสดุ ซีเจ โลจิสติคส์ ยังให้บริการโลจิสติคส์ที่ครอบคลุมแบบ one-stop service สำหรับบริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงโลจิสติคส์ตามสัญญาจ้าง (contract logistics) บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และโครงการขนส่งสินค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2541

            นอกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซีเจ โลจิสติคส์ ยังมุ่งต่อยอดการเติบโตด้วยแนวคิด K-Logistics ในตลาดหลักต่างๆ รวมถึงประเทศมาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัทโลจิสติคส์ในประเทศมาเลเซีย ซีเจ เซ็นจูรี โลจิสติคส์ (CJ Century Logistics) ในเดือนกันยายน 2559 และมีการร่วมทุนระหว่างซีเจ ทรานสเนชันแนล (CJ Transnational) และ ทีดีจี กรุ๊ป (TDG Group) ในประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนธันวาคม 2559 ตลอดจนการเข้าถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจโลจิสติคส์และการขนส่งของเจมาเด็ปต์ (Gemedept) บริษัทโลจิสติคส์ชั้นนำของประเทศเวียดนาม ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจของซีเจ โลจิสติคส์ในการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน

            ปัจจุบัน ซีเจ โลจิสติคส์ ดำเนินธุรกิจในกว่า 37 ประเทศ 148 เมือง และมีสำนักงานกว่า 266 แห่งทั่วโลก โดยบริษัทฯ มุ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ระดับสูง ด้วยความสามารถด้าน TES (เทคโนโลยี วิศวกรรม ระบบและโซลูชั่นส์) เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทโลจิสติคส์ชั้นนำของโลกด้วย Pan Asia No.1 Strategy ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายโลจิสติคส์ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย