6 กูรูโลจิสติกส์โลก แนะวิธีพลิกโฉมองค์กรเพิ่มศักยภาพการแข่งขันยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

0
190

โลกปัจจุบันได้เข้าสู่ยุค Disruptive Technology ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิมทำให้รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทยให้สามารถแข่งขันได้ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก จึงได้จัดงานTrade Logistics Symposium 2019ภายใต้หัวข้อ Transform and Collaborate towards Greater Successโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จากองค์กรระดับโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งข้อมูลจากการบรรยายของวิทยากรแต่ละท่านนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก

การสัมมนาในภาคเช้ามีวิทยากรบรรยาย3 ท่าน เริ่มจาก“นายเอ็ดวิน ฟาน โพเอลเจอร์”รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานสารสนเทศ ลินฟอกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย บรรยายเรื่อง การใช้ประโยชน์จาก IoTเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มีความก้าวหน้าด้านการขนส่งและโลจิสติกส์และสารสนเทศด้านมาตรฐานคุณภาพโดยกล่าวว่า การปรับองค์กรไปสู่ Digitization ผู้นำองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตระหนักว่าไอทีคือสิ่งสำคัญเพราะไอทีจะมาสร้างคุณค่าใหม่ๆ ทำให้องค์กรเติบโตขึ้น และสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดนอกจากนี้ ผู้นำองค์กรจะต้องทราบว่าธุรกิจของตนจะมุ่งไปทางไหน และจะมีวิธีนำไอทีมาใช้อย่างไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร เกี่ยวข้องกับแผนกไหน แต่ละแผนกจะมีการประสานงานร่วมมือกันอย่างไรสิ่งสำคัญที่สุดคือองค์กรจะต้องเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้พัฒนาองค์กรให้เป็น Digitization ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในวงการโลจิสติกส์ กระบวนการทำธุรกิจ การเงิน ทรัพยากรมนุษย์เมื่อนำไอทีมาใช้แล้วอาจทำให้หลายคนกังวลว่าจะตกงาน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปี 2030 จะมีคนตกงานจากจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กว่า2,000 ล้านคนดังนั้นสิ่งที่บุคลากรจะต้องทำคือการปรับทักษะของตนเองให้มีความสามารถด้านอื่นเพิ่มขึ้น

นายเอ็ดวินกล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูลว่าจะทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในระบบคลังสินค้าที่มีการนำระบบ dash board มาบริการลูกค้าจะทำให้เห็นภาพรวม และตัดสินใจได้ดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งองค์กรควรมีมาตรการที่จะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เช่น มีคู่มือและแนวทางปฏิบัติ

สำหรับวิทยากรท่านต่อมา คือ “นายคัทสึฮิโกะ อุเมะทสึ”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ยามาโตะโฮลดิ้ง และประธาน ยามาโตะโกลบอลโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการจัดส่งอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น มาแลกเปลี่ยนความรู้หัวข้อ การขนส่งสินค้าข้ามแดนและตลาดเกิดใหม่: ความสำคัญและความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซกล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจว่า การค้าข้ามแดนแบบอีคอมเมิร์ซทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีมูลค่าถึง 9,940 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซและปริมาณการสั่งซื้อสินค้าอาหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริการส่งสินค้าที่ต้องเก็บในที่เย็นเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งธุรกิจนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการให้บริการส่งสินค้าด้วยความเย็น ซึ่งสามารถเกิดความเสียหายได้หากใช้เครื่องวัดความเย็นที่ไม่แม่นยำ หรือใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ และปล่อยให้สินค้าอยู่นอกพื้นที่ความเย็นเป็นเวลานาน

นายคัทสึฮิโกะได้กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของยามาโตะกรุ๊ปว่า ยามาโตะมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ให้บริการ Global Food Supply Chain โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานการส่งสินค้า การควบคุมคุณภาพสินค้า และทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทชั้นนำด้านการส่งสินค้า Cold Chain ในธุรกิจอีคอมเมิรซ โดยพยายามสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้า Cold Chain เช่น มาตรฐานPAS ซึ่งยามาโตะได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจพัฒนาให้เป็นมาตรฐานระดับโลก นับเป็นมาตรฐานแรกของโลกที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า

ทางด้านที่ปรึกษาอาวุโสด้านโลจิสติกส์ของสวิสล็อกเซาท์อีสต์เอเชีย ผู้ให้บริการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลก “นายดิกสัน โยว” ที่มาให้ข้อมูลเรื่องคลังสินค้าอัจฉริยะ: การเดินทางสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้โซลูชั่นหุ่นยนต์และการขับเคลื่อนข้อมูลเปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบคลังสินค้าเพื่อทำให้เป็นคลังสินค้าอัจริยะที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความซับซ้อนในโซ่อุปทานโดยกล่าวว่า คลังสินค้าในยุค 4.0 ประกอบด้วย 2 แนวคิด คือ Cyber Physical System และ Big Data ในส่วนของ Cyber Physical System จะทำให้คลังสินค้ามีประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ช่วยลดแรงงานคน เพิ่มความรวดเร็ว และแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันมีความล้ำหน้าไปมากยกตัวอย่างที่สวิสล็อกมีการนำระบบ AutoStoreมาใช้จัดเก็บสินค้าและนำสินค้าออกมาตามคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคนไม่จำเป็นต้องทราบว่าควรนำไปจัดเก็บในตำแหน่งใดและสินค้าที่ต้องการนั้นอยู่ในตำแหน่งใด สำหรับ Big Data เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเพราะข้อมูลจะถูกใช้ในการวิเคราะห์ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนช่วยให้คาดการณ์ได้ว่าควรจะวางแผนการผลิตอย่างไร

นายดิกสันแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการพัฒนาหุ่นยนต์มีความก้าวหน้าไปมากจนถึงระดับที่หุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกับคนได้หรือที่เรียกว่า Human Robot Collaboration ซึ่งระบบนี้ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ เป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ และตอบสนองได้ดีเหมือนมนุษย์ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ Intra Logistics ที่นำมาใช้ในสายการผลิต เพื่อทำหน้าที่ส่งของข้ามแผนก

นอกจากนี้ นายเอ็ดวิน ฟาน โพเอลเจอร์ นายคัทสึฮิโกะ อุเมะทสึ และนายดิกสัน ยังได้ร่วมกันอภิปรายแบบคณะในหัวข้อ โลจิสติกส์ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Blockchainที่มีประโยชน์สำหรับองค์กรที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถเรียกดูข้อมูล สืบค้นย้อนกลับถึงต้นทางของสินค้าซึ่งทำได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และแม่นยำ สำหรับผู้สนใจที่จะลงทุนเรื่อง Blockchain ควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการขององค์กร ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีBlockchain ขั้นสูงหรือทันสมัยที่สุดเสมอไป

อีกทั้งยังได้อภิปรายถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยมองว่า AI กับคนจะมาทำงานร่วมกันและส่งเสริมให้การทำงานดีขึ้นจึงไม่ควรกังวลว่า AI จะมาแย่งงานของคน เพราะAI ไม่สามารถทำงานได้ทุกตำแหน่ง

เข้าสู่การสัมมนาภาคบ่ายกับวิทยากรอีก 3 ท่าน เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก “นายฌอน คูลีย์” ในหัวข้อโซ่อุปทานในอนาคต : ระบบอัตโนมัติ การตอบสนองความเป็นส่วนตัว การตอบสนองความเป็นท้องถิ่น กล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานว่า ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนผ่านจากคลื่นลูกที่ 5 ซึ่งเป็นยุคของคอมพิวเตอร์ มาสู่คลื่นลูกที่ 6 เป็นยุคของดิจิทัลและ AI ซึ่ง BlockchainและIoTมีบทบาทสำคัญในโซ่อุปทานทำให้เห็นการทำงานในทุกขั้นตอน เห็นการเคลื่อนย้าย (Visibility of Flows) ของสินค้า ข้อมูล และการเงิน เห็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (Visibility of Costs)และเห็นถึงผลกระทบในโซ่อุปทานด้วย เช่น ผลกระทบด้านจริยธรรม ผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งความสำเร็จของโซ่อุปทานในคลื่นลูกที่ 6 จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องประกอบด้วย3 สิ่ง คือ มีวิธีคิดใหม่ (New Mindset) มีรูปแบบใหม่ (New Models) และมีวิธีดำเนินการใหม่ (New Methods)

นายณอนกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น 3 เรื่อง คือ การเปลี่ยนจากแรงงานคนเป็นหุ่นยนต์ การเปลี่ยนจากการใช้สมองมนุษย์มาเป็นสมองเครื่องจักรกล และการเชื่อมโยงกันเองของหุ่นยนต์ซึ่งทำให้เกิดหุ่นยนต์ที่ฉลาดขึ้น ทำงานได้เอง และประมวลผลได้เอง

สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2045ในมุมมองของนายณอนคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Singularityหรือ ความคิดเป็นหนึ่งเดียว คิดเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นภัยที่ต้องระวังและน่ากลัว สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดเร็วขึ้นคือ 5Gเพราะทำให้การเชื่อมโยงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากนั้นเป็นการบรรยายของ “นายมาร์ค มิลลาร์”กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็ม พาวเวอร์ แอสโซซิเอตส์ และประธานคณะกรรมการโลจิสติกส์ หอการค้าอังกฤษในฮ่องกง มาแบ่งปันความรู้เรื่อง ระบบนิเวศโซ่อุปทานกับการทำงานร่วมกัน ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการทำงานร่วมกันในระบบนิเวศโซ่อุปทานว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ขาย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หรือร้านค้าปลีก สามารถมาทำงานร่วมกันได้ อาจจะเป็นการทำงานร่วมกันของผู้ซื้อด้วยกันเอง หรือเป็นการจับมือทำงานร่วมกันระหว่างผู้ขาย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หรือร้านค้าปลีก สำหรับการทำงานร่วมกันนั้นเป็นได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ลงทุนร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนร่วมกันด้านบุคลากร ร่วมกันการบริหารจัดการประสิทธิภาพและร่วมกันวัดผลกระทบ (Measure Impact) ที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น ความสำเร็จของการทำงานร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใส แต่ละฝ่ายต้องมีบทบาทที่ชัดเจน มีคำมั่นสัญญาและข้อตกลงร่วมกันสำหรับประโยชน์ของการทำงานร่วมกันในโซ่อุปทานนั้นสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง35% ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 50% เพิ่มความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ 25% ลดสินค้าคงคลัง 20% นอกจากนี้ยังเพิ่มความถูกต้องในการส่งมอบสินค้า ยกระดับการบริการ และเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า เป็นต้น

นายมาร์คยกตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดขึ้นของ Container Shipping ที่ก่อตั้งเป็นพันธมิตรสหภาพ ซึ่งแม้ว่าในช่วงก่อตั้งนั้นจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกบริษัทที่ร่วมมือกลับมียอดขายเติบโตอีกกรณีหนึ่งคือการร่วมมือกันของเทสโก้กับคาร์ฟูร์ซึ่งทั้ง 2 สองห้างได้เขียนกรอบความร่วมมือ Global Suppler และใช้แหล่งผลิตสินค้า House Brand จากแหล่งเดียวกัน ทำให้ทั้ง2 ห้างสามารถควบคุมต้นทุนสินค้าได้ดีขึ้น

หัวข้อสุดท้ายของการบรรยาย คือ การจัดส่งที่รวดเร็ว: ควรจะเร็วเท่าไรและทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดย“นางสาวอปรรณา สักเซนา”อดีตหัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนส่ง ลาซาด้า อีโลจิสติกส์ อินโดนีเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันประชากร 6,000 ล้านคนทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ล้านคนที่เป็นคนยุคมิลเลเนียมซึ่งมีพฤติกรรมไม่ต้องการรอ และยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าทันทีจากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าในระบบอีคอมเมิร์ซ พบว่า ลูกค้าที่ซื้อสินค้าออนไลน์อายุ 18-34 ปี จำนวน 56% คาดหวังที่จะได้รับสินค้าในวันที่สั่งซื้อ ในขณะที่ลูกค้าจำนวน 61% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าในวันที่สั่งซื้อและผู้ซื้อจำนวน49% ชื่นชอบการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเมื่อได้รับสินค้าในวันที่สั่งซื้อนอกจากนี้ ลูกค้ากว่า 25% จะยกเลิกการสั่งซื้อหากร้านค้าไม่สามารถส่งสินค้าภายในวันที่สั่งซื้อ ซึ่งความต้องการเหล่านี้ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกและโลจิสติกส์ทำให้ร้านค้าปลีกจำเป็นต้องมีบริการส่งสินค้าภายในวันเดียวกับวันที่ลูกค้าสั่งซื้อ

นางสาวอปรรณาได้กล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อความสำเร็จของอีคอมเมิร์ซว่า นอกจากความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าแล้ว ยังมีอีก 4 ปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสำคัญ คือ การส่งสินค้าฟรี การได้รับสินค้าตามที่คาดหวัง การคืนสินค้าฟรี และสามารถคืนหรือเปลี่ยนสินค้าได้ง่าย 

นอกจากนี้ นางสาวอปรรณายังได้ให้คำแนะนำในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ว่า หากต้องการอยู่ในระดับแนวหน้าของธุรกิจอีคอมเมิรซ์ จะต้องมองไปข้างหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เคยให้บริการเมื่อ 2-3ปีที่ผ่านมาอาจไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไปเนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้วางแผนยากอย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำว่า การทำ B2C ไม่ควรใช้กลยุทธ์เรื่องราคา ยกตัวอย่างอาลีบาบา จะใช้กลยุทธ์การทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

ปิดท้ายงานTrade Logistics Symposium 2019 ด้วยการเสวนาในหัวข้อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการทำงานร่วมกันของซัพพลายเชน โดยนายฌอน คูลีย์ นายมาร์ค มิลลาร์ และนางสาวอปรรณา สักเซนา มีใจความสำคัญว่าความร่วมมือของผู้ประกอบการในซัพพลายเชนจะต้องพิจารณาว่าคุ้มค่ากับการลงทุนและคุ้มค่ากับเวลาหรือไม่ หากตกลงใจว่าจะทำต้องทุ่มเทและจริงจัง มีความเชื่อใจกัน กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน มีข้อตกลงร่วมกัน และต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกันนั้นมีหลายระดับ อาจจะเป็นในรูปของการนำจุดแข็งมาผนึกกำลังกัน หรือร่วมกันเพื่อแก้ไขจุดอ่อน สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอในการทำงานคือการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การส่งมอบที่รวดเร็ว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

ผู้ร่วมเสวนายังได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจโลจิสติกส์ในยุคปัจจุบันว่า สถาบันการศึกษาต้องมองว่าตัวเองมีจุดเด่นด้านใด วิเคราะห์ให้ได้ว่าเทรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันต้องสอนทักษะใหม่ๆ ให้นักศึกษาก่อนที่จะออกไปสู่ภาคแรงงานในยุคที่หุ่นยนต์ทำงานแทนคน สอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ เข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบันสอนให้สังเกตตั้งคำถาม แสวงหาความรู้ เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกขณะ คนอาจไม่ได้ทำงานแบบเดียวไปตลอดชีวิตอีกต่อไป ต้องพร้อมเรียนรู้ ยืดหยุ่นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก