สมรภูมิดิวตี้ฟรี-ค้าปลีกแสนล้านระอุ!”ทอท.VS CPN”ปม‘เซ็นทรัลวิลเลจ’ใครได้-เสีย!?

0
544

กลายเป็นศึกยักษ์ชนยักษ์ปะทุผ่าเมืองเมื่อบมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.รัฐวิสาหกิจใต้ปีกกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติสายฟ้าแลบปิดทางเข้า-ออกพื้นที่โครงการ”เซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต”ของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาหรือ CPN บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.15 ทั้งที่ตามแผนจ่อGrand Opening 31 ส.ค.62ที่จะถึงนี้ 

โดยทอท.อ้างเป็นพื้นที่เขตการบินที่กรมธนารักษ์ให้อำนาจทอท.บริหารพื้นที่ดังกล่าว ขณะCPN ออกโรงโต้กลับได้พัฒนา บนที่ดินของตนเองย้ำดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ โดยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ หวังเป็นอย่างยิ่งจะได้รับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

กลายเป็นปมร้อนปรอทแตกส่งคลื่นความร้อนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”สั่งการให้ ทอท. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ย้ำหนักแน่น“เซ็นทรัลวิลเลจดำเนินการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากผิดก็ว่าไปตามผิด”  

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อครหาสังคมที่มีต่อข้อข้อแย้งช้างชนช้างครั้งนี้ มันมีอะไรในก่อไผ่หรือไม่? CPN ดำเนินการก่อสร้างมาเป็นแรมปีและจ่อจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ทำไม ทอท.ไม่โต้แย้งตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง? หรือทอท.ได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่? \การผุดขึ้นโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ Luxury Outlet ขนาดมหึมามูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เป็นอื่นไกลไม่ได้นอกเสียจากถูกมองเป็น “หนามยอกอก” สัมปทานร้านปลอดภาษีและสัมปทานบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ที่กลุ่มคิงเพาเวอร์เพิ่งได้สัมปทานจาก ทอท. ไปล่าสุด

การผุดขึ้นโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ Luxury Outlet ขนาดมหึมามูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เป็นอื่นไกลไม่ได้นอกเสียจากถูกมองเป็น “หนามยอกอก” สัมปทานร้านปลอดภาษีและสัมปทานบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ที่กลุ่มคิงเพาเวอร์เพิ่งได้สัมปทานจาก ทอท. ไปล่าสุด

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ติดรันเวย์สนามบินห่างออกไปเพียง 2 กม. เมื่อเปิดให้บริการก็เชื่อแน่ว่า ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งกิจการร้านปลอดภาษีและบรรดาร้านรวงต่างๆ ในพื้นที่เชิงพาณิชย์หลอมรวมเป็น“สมรภูมิค้าปลีก-ดิวตี้ฟรีระอุแดด”ที่มีเดิมพันธุรกิจนับแสนล้านบาท

ทอท.อ้างทำตามหน้าที่ ระบุชัด CPN บุกรุกที่ราชพัสดุ

นายนิตินัย  ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ออกโรงเปิดเผยถึงปมข้อพิพาทดังกล่าวว่าการที่ทอท.นำเต้นท์และแบริเออร์ ไปปิดพื้นที่ในเขตทางหลวงหมายเลข 370 หรือถนนเชื่อมระหว่างถนนมอเตอร์เวย์และถนนบางนา-ตราด ติดกับทางเข้า-ออก ประตู 1 ทางเข้าโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ  ทอท.นั้นเป็นการทำตามหน้าที่

“เนื่องจากซีพีเอ็นบุกรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในส่วนการดูแลของทอท. ซึ่งการรุกล้ำก็ว่าไปตามผิด เปิดทางให้ไม่ได้ ทอท.ก็ส่งคนไปเฝ้า แต่ถ้าทางซีพีเอ็นเคลียร์ได้ว่าไม่ผิด โครงการถูกต้อง ทอท.ก็ยอมที่จะพิจารณาถอนเต้นท์ให้”

 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ยังระบุ 3 เหตุผลที่ทอท.ไม่อนุญาตว่า1.ที่ดินดังกล่าวได้จากการเวนคืน และเป็นที่ราชพัสดุที่ต่อมามอบให้ ทอท.ครอบครอง และใช้ตามวัตถุประสงค์การเวนคือเรื่องทำสนามบินพาณิชย์เท่านั้น 2.ปัจจุบันการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังอยู่ในโครงการพัฒนาระยะที่ 2 หากในอนาคตมีการพัฒนาเต็มรูปแบบ การจราจรในบริเวณทางเข้า-ออกทางทิศใต้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นกว่าปัจจุบันและ3.การทำทางเชื่อมอาจทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการสร้างระบบสาธารณูปโภคในช่วงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะถัดไปเช่น การก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kvที่มีแนวก่อสร้างตามแนวทางหลวงหมายเลข 370 

“ที่ผ่านมาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ขออนุญาตให้เปิดทางเท้าทำทางเชื่อมเพื่อเป็นทางเข้า-ออกของโครงการ ในเขตทางหลวงหมายเลข 370 หรือถนนเชื่อมระหว่างถนนมอเตอร์เวย์ และถนนบางนา-ตราด ซึ่งทอท. ผู้ครอบครองพื้นที่ได้พิจารณาแล้วไม่อนุญาตโดยได้แจ้งให้ทางเซ็นทรัลฯ รับทราบ ตั้งแต่31 พ.ค.62” 

สับสน!ใครมีสิทธิ์ที่ราชพัสดุถนน370 ทอท.หรือทล.?

นายนิตินัยย้ำอีกว่า การที่ทอท.ต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องสืบเนื่องมาจากวันที่ 16 ม.ค.2562 ธนารักษ์ จ.สมุทรปราการ ระบุเรื่องการโอนพื้นที่ดังกล่าวของกรมการบินพาณิชย์(บพ.)เดิม ไปยังกรมทางหลวงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นที่ดินราชพัสดุที่ ที่กรมธนารักษ์ให้ไว้เพื่อประกอบกิจการการบิน ซึ่งทอท.ดูแลอยู่ ถ้าจะมีการโอนกันเกิดขึ้นจะต้องโอนคืนให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินก่อน 

“ที่ผ่านมากรมทางหลวงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นอำนาจของกรมทางหลวงในการอนุญาตให้มีการเข้าออกในพื้นที่นี้ได้ โดยพิจารณาจากความคล่องตัวของการจราจร และที่ผ่านมาพื้นที่ตรงนี้ กรมทางหลวงได้มีการติดไฟทำทางเข้า-ออก และเปิดพื้นที่ให้เข้า-ออกได้ในบางจุด”

เมื่อดูในโฉนดแล้วพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ให้ไว้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการบิน ซึ่งทอท.จะต้องเป็นหน่วยงานที่คืนให้กรมธนารักษ์ หลังจากนั้นกรมธนารักษ์จะคืนให้กรมทางหลวงหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งในกรณีนี้ทางเข้าโครงการ 1 กิโลเมตรจากปลายสนามบินสุวรรณภูมิ ทาง เซ็นทรัลฯ ได้มีการสร้างทางเข้ากว้าง 10 เมตร ก็ถือเป็นพื้นที่บุกรุก

“ทอท.จึงต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งการอนุญาตให้ใครเข้า-ออกพื้นที่ที่มีปัญหานี้เป็นอำนาจของ ทอท. และที่ผ่านมาทอท.ก็จะเป็นผู้อนุมัติว่าจะให้โครงการไหนเข้าออกได้ โดยพิจารณาจากเรื่องของเขตปลอดภัยในการบินเป็นสำคัญ”  

ส่วนประเด็นเซ็นทรัลฯได้ขออนุญาตก่อสร้างไปยังสำนักงานการพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทางทอท.ได้สอบถามไปยังกพท. ได้รับคำตอบว่า อนุมัติในเรื่องความสูงให้สามารถก่อสร้างได้  แต่ในเรื่องเช็คลิสท์ เขตปลอดภัยการบิน กพท.ไม่ได้ตอบในรายละเอียด ซึ่งทอท.ต้องไปสอบถามกพท.อีกครั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องของกฎหมายเขตปลอดภัยการบิน 

กพท.ยัน“เซ็นทรัลวิลเลจ” ไม่ฝ่าฝืนกม.การบิน

นายจุฬา สุขมานพ  ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)เปิดเผยว่าตอนนี้ยังยังไม่พบ’เซ็นทรัล วิลเลจ’ ฝ่าฝืนกฎหมายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศของสนามบินสุวรรณภูมิ หรือมีกิจกรรมที่เสี่ยงให้ไทยติดธงแดง หลังจากสหภาพ แรงงาน ทอท.ได้ออกแถลงการณ์24 ส.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กพท.เข้าไปตรวจสอบโครงการฯ

“เบื้องต้นยังไม่พบการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศของสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเป็นกรณีก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากที่ได้รับอนุญาต” 

การที่เซ็นทรัล วิลเลจ อยู่ใกล้กับแนวบินร่อนลง (Take off & approach ) ของสนามบินสุวรรณภูมิ ผมมองว่าไม่น่ามีปัญหาในการเปิดให้บริการ แต่ก็ต้องมีบางกิจกรรมที่ห้ามเด็ดขาด เพราะอาจขัดต่อความปลอดภัยทางการบิน ได้แก่ห้ามการยิงเลเซอร์ขึ้นไปบนท้องฟ้า ห้ามการปล่อยคลื่นเสียงในความถี่ที่กระทบกับการบินและอากาศยาน และห้ามปล่อยโคมลอยและการจุดพลุที่มีผลกระทบกับการมองเห็นทางวิ่งในแนวร่อนลง 

ผอ.กพท.ระบุต่อว่ากพท.ได้อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการนี้ได้ตั้งแต่ ก.ค.61 ซึ่งผู้เข้ามายื่นขออนุญาตก่อสร้างในเวลานั้น เป็นการยื่นขออนุญาต โดย “บริษัท สวรรค์วิถี จำกัด”ซึ่งกพท.ได้ตรวจสอบแพลนก่อสร้างแล้วพบว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อแนวร่อน ในพื้นที่ของเขตปลอดภัยในการเดินทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้อนุมัติให้ก่อสร้างได้

“โครงการนี้จะมีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูงอยู่ที่ 23 เมตรจากระดับพื้นดิน จากจำนวนความสูงในเขตปลอดภัยการบินในโซนนี้ ที่ต้องไม่เกิน 36 เมตรซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาแนวร่อนที่วัดจากหัวสนามบินออกไป 100 เมตรทุกเมตร สิ่งปลูกสร้างจะสูงได้ 2 เมตร”

CPN โต้ทุกขั้นตอนถูกต้องตามกม.

ด้านความเคลื่อนไหวของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หลังเผชิญปัญหาดังกล่าวโดยนายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า ขอวิงวอนให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรม และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยโครงการมีมูลค่าร่วมลงทุนของซีพีเอ็น และร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า รวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดให้บริการคาดว่า จะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่ กว่า 1,000 คน และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท”

สำหรับประเด็นที่บริษัทฯ ขอชี้แจง มี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด“ที่ดินโครงการฯ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.”

อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน “ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล”

ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด 

และประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อย่างถูกต้องไม่ได้ละเมิดกฎใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด

นอกจากนี้ CPN ได้ยื่นฟ้อง ทอท.ต่อศาลปกครองขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครอง โดยขอให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไป ห้ามมิให้ ทอท.รบกวนการใช้ประโยชน์ใด ๆ และขอให้ ทอท.ยุติดำเนินการใดๆอันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรค บนทางหลวงแผ่นดิน 370 บริเวณเข้า-ออกหน้าโครงการ ต่อการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยศาลปกครองมีนัดไต่สวนวันที่ 28 ส.ค. 2562

“ซีพีเอ็นจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายเนื่องจากทำให้บริษัทได้รับผลกระทบทางธุรกิจ ที่คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในโครงกว่า 3 หมื่นล้านบาท” 

ศาลฯสั่งคุ้มครองชั่วคราว CPN เฮ!เปิดให้บริการได้ตามเดิม

ในที่สุด(30 ส.ค.62)ศาลปกครองกลางได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยมีคำสั่งให้ AOT รื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดำเนินการใดๆอันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือ ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใดๆของ CPN เปิดทางให้เซ็นทรัลวิลเลท Grand Opening ได้ตามกำหนดการเดิม 31 ส.ค.62

โดยสาระสำคัญที่ศาลฯมีคำสั่งชั่วคราวนั้น ศาลฯให้เหตุผลว่าทอท.เป็นเพียงหน่วยงานที่ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุมีหน้าที่ดูแลและระวังรักษามิให้บุคคลใดมารบกวนการครอบครองเท่านั้น มิได้มีอำนาจอื่นเกี่ยวกับที่ราชพัสดุดังกล่าว ส่วนกรณี CPN ทำทางเชื่อมและใช้ทางเชื่อมเป็นทางเข้าออกและการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน มิได้มีลักษณะเป็นการรบกวนการครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด

“กรณี ทอท.อ้างว่าการใช้ทางเชื่อมจะทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ในด้านการเงิน เศรษฐกิจ และบริการสาธารณะ เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้นปัจจุบันการใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายตามที่ ทอท.อ้างแต่อย่างใดดังนั้น การที่ศาลให้คุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ CPN จึงไม่เป็นการเสียหายหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของ ทอท.”

คล้อยหลังวันเดียวกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมร่วมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีข้อขัดแย้งดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯอยู่นอกเขตพื้นที่ครอบครองทอท.แต่อยู่ภายใต้การครอบครองของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกรมธนารักษ์ ประกอบกับศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทอท.รื้อย้ายสิ่งกีดขวางต่างๆออกจากโครงการ โดยทอท.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

“ส่วนประเด็นการอนุญาตก่อสร้างทางเชื่อมบนถนนทางหลวง หมายเลข 307 เบื้องต้นยังพิสูจน์ทราบไม่ได้ว่าอยู่ในกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานใด เพราะพบว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 4 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย กรมธนารักษ์ ทอท. ทล.และ ทย.ที่ประชุมจึงแต่งตั้งให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานหารือร่วมระหว่าง 4 หน่วยงานให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า โดยภายหลังได้ข้อสรุปทางเซ็นทรัลจะต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป”

สุดท้ายแล้วข้อพิพาท“ช้างชนช้าง” ระหว่าง CPN กับ ทอท. ครั้งนี้ที่ทำเอาสมรภูมิค้าปลีก-ดิวตี้ฟรีระอุแดด พร้อมด้วยเดิมพันธุรกิจสูงลิ่วระดับแสนล้านแม้ฝ่าย CPN จะได้เฮก่อนยกแรก ทว่าจากนี้ไปจะมีอะไรปูดมาอีกระลอกหรือไม่?ปูเสื่อรอ!

เหนือสิ่งอื่นใดใครได้-เสีย?ทว่า ผู้หนุนหลัง ทอท.ให้เปิดศึก CPN ครานี้ ที่ใครต่อใครต่างเชื่อ-รู้กันทั้งปฐพีว่า “เป็นใคร?”เสียหน้าเสียรังวัดไปเต็มๆ!