เปิดหวูดแล้ว!รถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 1

0
224

การรถไฟฯ เปิดหวูดให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาวผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 จากสถานีหนองคายถึงสถานีท่านาแล้ง เชื่อมขนส่งสินค้าทางรางจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านสถานีหนองคายไปศูนย์กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) ท่านาแล้งแบบไร้รอยต่อ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สอดรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ไทย-สปป.ลาว) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ถือความสำเร็จในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสินค้าระบบรางของทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน และสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่ง

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว จากสถานีหนองคายถึงสถานีท่านาแล้ง มีระยะทางทั้งสิ้น 3.5 กิโลเมตร ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศเป็นอย่างมาก สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบัง ขนส่งมาที่สถานีหนองคาย และต่อขยายไปถึงที่ศูนย์กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ได้โดยตรง รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศได้เป็นอย่างดี

“ก่อนหน้านี้การเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง ได้ให้บริการเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป จะมีการปรับเปลี่ยนขบวนรถให้เป็นขบวนรถร่วมให้ขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยพ่วงรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าร่วมกับขบวนรถโดยสารเข้าไปด้วย ซึ่งเปิดให้บริการวันละ 4 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนรถรวมที่ 481 ออกหนองคาย 07.30 น. ถึงท่านาแล้ง 07.45 น. ขบวนรถรวมที่ 482 ออกท่านาแล้ง 10.00 น. ถึงหนองคาย 10.15 น. ขบวนรถรวมที่ 483 ออกหนองคาย 14.45 น. ถึงท่านาแล้ง 15.00 น. และขบวนรถรวมที่ 484 ออกท่านาแล้ง 17.30 น. ถึงหนองคาย 17.45 น.”

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ความสำเร็จในการเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากจังหวัดหนองคาย กรมศุลกากร กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งไทย และสปป.ลาว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง นำมาซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริการของภาคคมนาคมขนส่ง (Transport Services) ของกระทรวงคมนาคม ในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทั้งภายใน และระหว่างประเทศผ่านระบบราง เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งให้มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป