ขนส่งฯ เข้มความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กได้มาตรฐานบริการทดแทนรถตู้ ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และ 4 ในกทม. และปริมณฑล, ส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด รวมทั้งหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การกำหนดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก เนื่องจากได้พิจารณาด้านสภาพรถที่เก่าเครื่องอุปกรณ์ชำรุดจะมี ค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่ารถใหม่ ทำให้เกิดความไม่คุ้มทุน บริษัทประกันภัยจะไม่รับจัดทำประกันภัยให้ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 กำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อน (ครบ 10 ปี) เฉพาะในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง จำนวน 937 คัน ซึ่งผู้ประกอบการได้เปลี่ยนเป็นรถใหม่ทดแทนแล้ว จำนวน 252 คัน สำหรับรถหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด รวม 238 คัน ได้เปลี่ยนเป็นรถใหม่ทดแทนแล้ว จำนวน 227 คัน (ข้อมูล 1 ต.ค. 60 – 31 พ.ค. 62) และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้เป็นต้นไป
กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อจูงใจและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” และได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง ณ บริเวณอาคาร 3 ชั้น 1 อำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาแนะนำกรณีรถตู้โดยสารประจำทางจะครบกำหนดอายุ 10 ปี และขั้นตอนการจดทะเบียนรถแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) พร้อมช่วยเหลือเจ้าของรถในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะทำการเปลี่ยนรถทดแทนรถคันเดิมที่หมดอายุให้ได้รับ ความสะดวกรวดเร็ว
โดยผู้ประกอบการขนส่งที่เข้าข่ายรถตู้ครบกำหนดอายุการใช้งาน (10 ปี) ในปี 2562 จำนวน 1,175 คัน สามารถนำรถตู้โดยสารใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนรถครั้งแรกมาเปลี่ยนทดแทนคันเดิมได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 หรือเลือกเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ด้วยรถโดยสารมาตรฐาน 2 (จ) ซึ่งมีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และหรือรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21 – 30 ที่นั่ง เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก อีกทั้งยังมีโครงสร้างตัวรถแข็งแรง เหมาะกับการเดินทางระยะไกล เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นด้วยระบบเบรก แบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า และอุปกรณ์ภายในรถที่ กันไฟ ติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) มีประตูฉุกเฉินรองรับกรณีหากเกิดอุบัติเหตุตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด