กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่ากระแทกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)อย่างจังหลัง“สหพันธ์ขนส่งฯ”ผนึกกำลัง 10 สมาคมขนส่งฯ ประกาศกร้าวค้าน พ.ร.บ.จราจรฯ ใหม่ก่อนมีผลบังคับใช้ 20 ก.ย.นี้ อ้างไม่ผ่านประชาพิจารณ์ ไม่เห็นด้วยอย่างแรงในหลายมาตรา ชี้เฉพาะบทโทษปรับสูงขึ้น 5 เท่ากระทบผู้ประกอบการขนส่งเป็นวงกว้าง
พร้อมล่า 5 หมื่นรายชื่อตบเท้าคัดค้านเสนอนายกรัฐมนตรี ขู่หากยังเพิกเฉยพร้อมยกระดับการคัดค้านด้วย 4 มาตรการหนัก-แรงตามลำดับ เบาสุดหยุดวิ่งให้บริการ 3 วัน แรงสุดหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง 3-7 วัน
ล่าสุด สตช.ออกโรงแจงยิบพ.ร.บ.จราจรฯ ใหม่ผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ชี้แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่า แท้จริงปรับผู้ขับขี่เท่าเดิมที่เปลี่ยนคือโทษปรับนิติบุคคล ยันกม.ฉบับนี้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม
พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผ่านรายการสนามข่าว 7 สีเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6มิ.ย.)ว่าประเด็นแรก ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรงกว่า 500 คน ความเห็นจากสื่อมวลชน และทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขให้กฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ใช่คุ้มครองเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
https://s.ch7.com/345393
ส่วนประเด็นที่สหพันธ์การขนส่งฯ ไม่เห็นด้วยเรื่องที่แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่านั้น พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ชี้แจงว่าจริง ๆ แล้วโทษปรับของผู้ขับขี่ยังคงเท่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือ โทษปรับของนิติบุคคล คือเมื่อรถในสังกัดของบริษัททำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่ง บริษัทต้องแจ้งชื่อผู้ขับรถให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปออกใบสั่งใหม่กับบุคคลที่กระทำความผิด มิฉะนั้นบริษัทจะมีโทษปรับ 5 เท่า
“มันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะมิฉะนั้นรถของบริษัทหรือองค์กรใดก็ตามที่เป็นนิติบุคคลกระทำผิดกม.จราจรแล้วลงโทษไม่ได้ ก็จะให้เกิดอันตรายกับบุคคลในทางสาธารณะ บทบัญญัตินี้จึงเพิ่มความรับผิดชอบของนิติบุคคลว่ามีหน้าที่ต้องดูแลรถของตัวเอง เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต้องแจ้งต่อรัฐว่าใครคือผู้กระทำความผิด ถ้าไม่แจ้งจึงจะเป็นความผิดที่จะถูกปรับเป็น 5 เท่า ซึ่งผมมองตรงนี้ความรับผิดชอบของบริษัทก็ชัดเจน”
“ถ้าเกิดคุณมีความรับผิดชอบแล้วแจ้งว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดมันก็จบแล้วนี่ครับ ทำไมจะมีปัญหาอะไรถูกมั้ยครับ แล้วถามว่ารถของบริษัทแล้วบริษัทจะไม่ต้องรับผิดชอบหรอหากวันไหนใครขับจริงมั้ยครับ คนขับของบริษัทเอาไปขับแล้วไปทำผิดกม.อะไร บริษัทต้องรับรู้และรับผิดชอบต่อสังคม”
ส่วนประเด็นที่สหพันธ์ขนส่งฯอ้างว่ากฎหมายให้อำนาจตำรวจในการจับและออกคำสั่งว่าทำผิดกฎหมายเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากลนั้น พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ยืนยันว่าไม่จริง กฎหมายฉบับนี้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม รวมถึงสามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานได้ หากถูกแจ้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรมด้วย