เสนอรัฐบาลใหม่เพิ่ม Productivity แรงงาน

0
239

เมื่อพลิกดูข้อมูลแรงงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561  พบว่า จำนวนแรงงานมีทั้งสิ้น 38.42 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่มีงานทำ  37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.91 แสนคน และผู้รองานตามฤดูกาล 3.29 แสนคน  และผู้ที่มีงานทำ  37.60  ล้านคนนั้นก็จะกระจายไปตามประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ  อาทิ เกษตรกรรม การผลิต  การขนส่ง  และอื่นๆ  

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการต่อการใช้แรงงานที่มีอยู่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมต่างๆประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน   แรงงานยังขาดทักษะการทำงาน กลายเป็นเหตุให้การทำงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน ส.อ.ท. และกรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลด์ไมน์ การ์เม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า  ปัจจุบันแรงงานคุณภาพยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ประกอบการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ หากดูตัวเลขผู้เรียนจบการศึกษาปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มี 1.6 ล้านคน จึงพบว่า  แรงงานที่จบการศึกษาส่วนใหญ่เป็นแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ  ในบางสาขาวิชามีมากเกินความต้องการตลาดแรงงานด้วยซ้ำ 

“ส.อ.ท.เตรียมนำเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดันการเพิ่มคุณภาพการผลิต (Productivity) แรงงาน ให้เป็นวาระแห่งชาติ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราสูงได้ และส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปในที่สุด”

หากดูตัวเลขการจ้างงานในปี 2562 เรามีแรงงาน 38.04 ล้านคน มีงานทำ  37.34 ล้านคนแสดงว่า มีผู้ว่างงานกว่า 3 แสนคน และผู้รองานตามฤดุกาลกว่า 3 แสนคน แสดงว่ามีผู้ว่างงานไม่ถึง 1% ถือว่าจำนวนแรงงานได้ถูกการจ้างงานมากพอสมควร  ขณะที่เรายังนำเข้าแรงงานต่างด้าวประมาณ 3.5 ล้านคน   ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกรรมกรและไร้ฝีมือ  ส่วนนักศึกษาจบใหม่ตั้งแต่มัธยม 3-6 และปริญญาตรี เป็นผู้ที่ได้งานประมาณ 4 แสนกว่าจาก 1.7 ล้านคน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าย้อนดูแรงงานที่เหลืออีกประมาณ 1.2 ล้านคน 

ขาดแคลนมากที่สุด ภาคการผลิต

สุชาติกล่าวว่า   ขณะนี้ผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ ภาคการผลิต ในจำนวนแรงงาน 38 ล้านคน เป็นแรงงานด้านการแพทย์ 6 ล้าน ภาคการขนส่ง 6 ล้าน ภาคการเกษตร 10 ล้าน ภาคบริการ 10 ล้าน รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้าน สำหรับแรงงานที่เป็นปัญหาในภาคการผลิตเพราะว่า  แม้ภาคการผลิตใช้แรงงานน้อยกว่าภาคการเกษตรก็ตาม  ภาคการผลิตเปรียบผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 50 เท่าของภาคการเกษตร

การที่ประเทศไทยขาดแรงงานภาคการผลิตมากที่สุด   เพราะประสิทธิภาพแรงงานต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา   ตัวอย่างตามข้อมูล IMD ซึ่งได้สำรวจ Productivity ของประเทศต่างๆ ไทยอยู่ในอันดับที่ 58 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 25 สิงคโปร์อยู่ลำดับที่ 26  ส่วนลำดับด้านไอที เทคโนโลยี ไทยอยู่ในอันดับที่ 52 สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 16 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 34  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ไทย อยู่ลำดับที่ 55 มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 48  สิงคโปร์อยู่ลำดับที่ 5  ดังนั้นจะเห็นชัดเจนว่า ไทยมีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์  

ขณะที่ไทยมีกำลังแรงงานมากกว่าสิงคโปร์  มาเลเซีย ก็ตาม  แต่ประสิทธิภาพแรงงานของไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ทำให้ไทยขาดแคลนแรงงาน  ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอถึงรัฐบาลชุดใหม่ ว่า วาระแห่งชาติของประเทศไทย เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้มากขึ้นควรมุ้งเน้นประสิทธิภาพแรงงาน จึงเสนอคุณภาพแรงานเป็นวาระแห่งชาติ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ก็มีหลายพรรคการเมืองในระหว่างหาเสียงจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นแบบก้าวกระโดดจะเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การผลิตหยุดชะงักเหมือนกับสมัยอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วด้วยการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด จากกว่า 100 บาทเป็น 200 กว่าบาท และเป็น 300 บาท ผลปรากฏว่าผู้ประกอบการตายเรียบถึงขณะนี้ยังไม่ฟื้นเลย ฉะนั้น หากปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานแบบก้าวกระโดดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง  แต่สิ่งที่ควรทำทันทีคือ ปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน 

เมื่อดำเนินการดังกล่าวดีขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนต่อหน่วยของผู้ประกอบการก็จะน้อยลง ย่อมสามารถแข่งขันได้มากขึ้น จากนั้นมีกำลังเงินที่เพิ่มขึ้นมาจ่ายให้กับแรงงานหรือเป็นค่าจ้าง แรงงานจะมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิมในขณะนี้ แทนที่จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ  นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมภาคการผลิต ภาคธุรกิจทั้งหลายให้มีทักษะเรื่องแรงงานดีขึ้นหรือ Productivity นั่นเอง  ทั้งหมดเหล่านี้ รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแล 

ขณะเดียวกัน อยากให้มีการสนับสนุนด้านไอที เพราะกำลังเข้าสู่ยุด 4.0 แล้ว  อีกทั้งดูเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง  หากจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างก็ควรให้เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายที่มีกำหนดไว้ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ  ความสามารถของนายจ้าง

3 ฝ่ายร่วมจัดทำ Productivity แรงงาน

เมื่อถามถึงสิ่งแรกของการเพิ่ม  Productivity แรงงาน จะต้องเริ่มจากส่วนไหนก่อน สุชาติกล่าวว่า   เราต้องเริ่มต้นจาก 3 ฝ่าย  นั่นคือ  รัฐบาล  ผู้ประกอบการ  และผู้ใช้แรงาน ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องประสานมือร่วมกัน  รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ผู้ใช้แรงงานต้องให้ความร่วมมือ ที่จะเข้าสู่โครงการดังกล่าว  และผู้ประกอบการเองต้องให้ความสนใจประสิทธิภาพแรงงาน  เพราะว่านี่เป็นทางออกของผู้ประกอบการหรือนายจ้าง 

“ทำอย่างไรให้ลูกจ้างมีชีวิตที่ดีขึ้นมีรายได้ที่ดี สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องยอมรับ  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะไม่เพียงพอ และถ้าปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดอาจจะกระทบกับผู้ประกอบการอาจจะปิดกิจการ  ส่งผลทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระของรัฐบาล ฉะนั้น การเพิ่ม Productivity แรงานจะเป็นคำตอบ ทางออก ที่เป็นโจทย์อยู่ในขณะนี้”

หลังจากนี้ คงจะดำเนินการยื่นเรื่องให้รัฐบาลชุดใหม่  ส.อ.ท.จะเดินหน้าต่อไป โดยนำข้อมูลให้กับรัฐบาลชุด คาดหวังผลลัทธ์ หากทำสำเร็จจะเพิ่มแรงงานที่มีประสิทธิภาพ 1 % เท่ากับ 3 แสนคน  และสามารถลดต้นทุนผู้ประกอกการได้ ทำให้นำรายได้มาจ่ายให้กับแรงานเพิ่มขึ้น และมีการแรงงานเพิ่มขึ้นอีก   ซึ่งเป็นวัฏจักรระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นใครก็ตาม   แต่ขออย่าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงเอาไว้

“สิ่งที่ควรพิจารณาทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้  ผู้ใช้แรงงานมีชีวิติที่ดีขึ้น  การจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามครรลอง  แต่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างต่ำแบบก้าวกระโดด เพราะเป็นปัญหากับผู้ประกอบการระดับ SME อย่างมาก เหมือนที่เคยปรับขึ้นมาแล้วในอดีต”  สุชาติกล่าวในที่สุด