TTT ผนึก PANUS เขย่าวงการรถพ่วง R&D Car Carrier โมเดลใหม่ จุรถกระบะมากสุด 8 คัน

0
1825

วงการต่อรถพ่วงฮือฮาอีกครั้งหลัง TTT ผู้ให้บริการขนส่งยานยนต์ค่ายยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น “โตโยต้า” ผนึก Panus พี่เบิ้มธุรกิจผลิตยานยนต์เพื่อขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์เมืองไทย ร่วมกัน R&D  Car Carrier โมเดลใหม่ล่าสุดยาว 24 เมตร บรรทุกรถกระบะมากสุด 8 คัน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ

คุณเกษม บุญเจริญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด (TTT) เปิดเผยว่า TTT ดำเนินงานด้านการขนส่งให้กับโตโยต้า โดยภาพรวมเมื่อปี 61 เราทำการขนส่งรถโตโยต้าไปยังดีลเลอร์ต่างๆทั่วประเทศ 3.2 แสนคัน ส่วนการขนส่งเพื่อส่งออกประมาณ 3 แสนคัน ประมาณการค่าขนส่งประมาณ 1,400 ล้าน

“เราบริหารงานด้านการขนส่งที่ชูนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งและความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะไม่ใช่แค่การโหลดรถขึ้น-ลงแล้วขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงหลายองค์ประกอบรวมกัน ทั้งการขับเคลื่อนแนวนโยบาย พันธกิจ ทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กรสู่เป้าหมายคือองค์กรต้องมีศักยภาพและเข้มแข็ง”

คุณเกษม ระบุต่อว่าธุรกิจขนส่งพนักงานขับรถถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาใจใส่และมีการพัฒนาบุคคลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ภายในพื้นที่บริษัทฯเรามีศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการขับรถ ตลอดถึงการโหลดรถขึ้น-ลงให้เกิดความชำนาญก่อนจะไปขับจริงภายใต้การควบคุมของอาจารย์และทีมฝึกสอน

“เราทำงานอย่างมีคุณภาพด้วยความปลอดภัย รวมถึงการขับขี่บนท้องถนนที่ชูนโยบายที่คำนึงและใส่ใจถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งขณะที่ควบคุมยานพาหนะบนท้องถนนต้องไม่ทำให้คนอื่นมีอุบัติเหตุ หรือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากเรา เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งผู้ปฏิบัติงาน สินค้าที่เราทำการขนส่ง และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน โดยพนักงานขับรถทั้งกลุ่มรวมแล้วกว่า 700 คน ซึ่งใน 1 ปีจะมีการหมุนเวียน Re-Training พนักงานขับรถทั้งหมด”

15 ปีบนเส้นทาง R&D Full Trailer

คุณเกษม เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการร่วมมือกัน R&D ระหว่าง TTT และ Panus ว่าปัจจุบัน TTT มีรถทั้งหมด 48 คัน แต่เรามีรถร่วมของ 14 พันธมิตรอีก 350 คัน ไม่ว่าจะเป็นรถของเราเองหรือพันธมิตรก็ตาม อันดับแรกต้องมีมาตรฐานเดียวกันตามที่เรากำหนดขึ้น คือตัว Trailer ต้องเป็นยี่ห้อเดียวกันคือของทาง Panus ภายใต้การบริหารจัดการที่เรามุ่งเน้นถึงความปลอดภัยในทุกๆจุด

“โดยเฉพาะยิ่งการบริหารจัดการ Full Trailer (แม่ลูก)ที่มีวิ่งงานขนส่งอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจาก R&D ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเรากับทาง Panus มาตั้งแต่ปี 2004  โดยเป็นความร่วมมือกันดีไซน์ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งมีวิศวกรของ TTT จากญี่ปุ่นร่วมควบคุมงานดีไซน์ สิ่งที่เราดีไซน์อย่างแรกต้องยึดตามกรอบกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งมิติขนาดความกว้าง สูง และยาวต้องถูกต้องตามกฎหมาย ถัดมาต้องคำนึงการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ คือทำอย่างไรให้สามารถโหลดรถได้ปริมาณมากที่สุด”

คุณเกษม เล่าต่ออีกเมื่อก่อนเป็น Semi Trailer บรรทุกรถกระบะได้ 6 คัน ต่อมาพัฒนาเป็น Full Trailer บรรทุกได้ 7 คัน ซึ่งเป็นพัฒนาและการบริหารจัดการให้มีต้นทุนการขนส่งถูกลง ที่สำคัญตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งความร่วมมือกับ Panus ตัว Full Trailer ที่วิ่งอยู่ดีๆบนท้องถนนไม่เคยเกิดอุบัติเหตุสักครั้งเลย

“สะท้อนว่า Full Trailer ที่เกิดจากร่วมมือกัน R&D จนตกผลึกเป็นผลงานชิ้นสำคัญนี้ เป็นสินค้าที่ได้ตามคุณภาพและมาตรฐานที่เราตั้งไว้  เพราะแต่ละโมเดลก่อนจะทำการ Mass Production เราต้องใช้เวลา Try Out วิ่งบนทุกสภาพท้องถนนทั่วภูมิภาคของประเทศนานถึง 6 เดือน”  

โมเดลใหม่ บรรทุกกระบะมากสุด 8 คัน

ขณะที่ความโดดเด่นของ Full Trailer โมเดลใหม่ล่าสุดนี้ คุณเกษม ระบุว่าถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งจากความร่วมมือ R&D โมเดลใหม่นี้มีการ Modify เพิ่มเติมในหลายจุดด้วยกัน แต่ไฮไลท์หลักสามารถบรรทุกรถกระบะได้มากถึง 8 คันจากเดิมได้ 7 คัน หากในอนาคตมีการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดเล็กลงก็จะสามารถบรรทุกได้มากถึง 9 -10 คัน

“มิติความยาวของ Full Trailer จากเดิมยาว 21 เมตร ตัวใหม่ยาว 24 เมตร ส่วนความกว้างเพิ่มอีก 50 มิลลิเมตร ส่วนมิติตัวรถ Truck เพิ่มความยาว 390 มิลลิเมตร และความกว้างอีก 50 มิลลิเมตร ขณะที่น้ำหนักในมิติตัวรถ Truck เพิ่มอีก 180 กิโลกรัม ส่วน Full Trailer เพิ่มอีก 830 กิโลกรัม”

ขณะที่จุดอื่นๆก็จะมีการ Modify เพิ่มมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและลดความเสี่ยงด้านกายภาพของผู้ปฏิบัติงาน เช่น สะพานท้ายแต่เดิมจะทำจากวัสดุอะลูมิเนียมมีหนักมากถึงข้างละ 29 กก.และทำงานด้วยคนอาจจะมีปัญหาด้านกายภาพเวลาเลื่อนเข้า-ออกและยกขึ้น-ลงโดยเฉพาะบริเวณหลังได้หากทำงานนาน 10 ปีขึ้นไป

ทว่าโมเดลใหม่นี้จะเปลี่ยนจากวัสดุอะลูมิเนียมมาเป็นเหล็กแทน แต่ผู้ปฏิบัติงานจะทำงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะเปลี่ยนมาเป็นระบบไฮดรอลิคดันหรือสไลด์ออกมาแทน ขณะที่โครงสร้างท้าย( 4 load) เมื่อก่อนทำงานด้วยคน แต่ตัวใหม่จะทำงานด้วยระบบลม( Air Bag)

ส่วนระบบเบรกด้านหน้าเมื่อก่อนจะเป็นมาตรฐาน Air Brake ด้านหลังเป็น Full Air Brake  แต่ตัวใหม่นี้ด้านหน้ายังเป็นมาตรฐาน Air Brake ส่วนด้านหลังจะถูกปรับ Full Air Brake +ABS System สร้างความนุ่มนวลและให้ความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานขับรถ 

อย่างไรก็ดี คุณเกษม สรุปปิดท้ายว่านับจากนี้ไปภายหลังที่ได้มีการยืนยันและปรับแก้ในจุดต่างๆเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนทำการ Try Out วิ่งทดสอบไปตามเส้นทางต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศก่อนที่จะมีการ Mass Production ต่อไป