เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการและอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินตามแผนงานโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561
โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ EEC Project List (โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย หน่วยงานราชการหลายภาคส่วน คือ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทน EEC ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ผู้แทนกองทัพเรือ และผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน คัดเลือกเอกชน เจรจา และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือเอกชนเข้าชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามที่เห็นสมควรได้ประชุมและพิจารณาประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เรียบร้อยแล้วและได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 35 ราย และได้กำหนดให้มีการรับซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. – 12.00 น. โดยมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี (สมาชิกประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จำกัด และ China Harbour Engineering Company Limited) และกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (สมาชิกประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการประชุมและพิจารณาเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม โดยในการประชุมพิจารณาแต่ละครั้งได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยทุกครั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมพิจารณาซองที่ 1 (ซองไม่ปิดผนึก) ซองเอกสารหลักฐานไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดทั้ง 2 กลุ่ม และได้พิจารณาซองที่ 2 (ซองปิดผนึก) ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ คุณสมบัติของนักลงทุน คุณสมบัติของทางการเงิน ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งผลการพิจารณาปรากฏว่ากลุ่มเอ็นซีพี ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงให้เห็นว่าสมาชิกของกิจการร่วมค้าจะร่วมกันและแทนกันรับผิดอย่างหนี้ร่วม ในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน จึงเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และไม่สามารถทำการเปิดซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทน และซองที่ 5 (ปิดผนึก) ต่อไปได้ ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี เป็นผู้ผ่านการประเมินซองที่ 2 จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยพิจารณาซองที่ 3 ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และได้เปิดซองที่ 4 ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทนของกลุ่มจีพีซี
สำหรับประเด็นผลตอบแทนทางการเงิน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดซองข้อเสนอทางการเงินเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการพิจารณาซองที่ 2 เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีผู้ใดสามารถที่จะทราบได้ว่าผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาซองที่ 2 ยื่นข้อเสนอทางด้านเทคนิค ข้อเสนอทางด้านการเงิน และข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นอย่างไร การที่มีผู้ไปเสนอข่าวว่าผู้ไม่ผ่านการพิจารณาเสนอข้อเสนอทางการเงินด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่าผู้ผ่านนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ และหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ ทุกประการ ประกอบกับผู้ไม่ผ่านการพิจารณาได้ไปยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นคดีดำเลขที่ 818/2562 และศาลปกครองพิจารณาไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีเป็นคดีแดงเลขที่ 488/2562 แล้ว