สแกนคืบหน้า! 4 เมกะโปรเจ็กต์ EEC 6.5 แสนล้าน

0
361

ถนนทุกสายในเวลานี้ล้วนจับตาเป็นพิเศษถึงทิศทางการเมืองไทย นัยว่าหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ผ่านมาแล้วกว่าขวบเดือนยังไร้ความชัดเจนว่าขั้วการเมืองไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องลุ้นตัวโก่งอีกครั้งหลังการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในวันที่ 9 พ.ค.62 โฉมหน้าการเมืองไทยจะออกมาในทิศทางใด

ขณะที่ถนนสายการลงทุนอันมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้คงหนีไม่พ้น 4 เมกะโปรเจ็กต์จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าประมาณ 650,000 ล้านบาทผ่านรูปแบบการลงทุน PPP ที่รัฐบาลคสช.ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งหวังเป็น “ผลงานชิ้นโบว์แดง”และประกาศก้อง”ขีดเส้นตาย” 4อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์แห่งความหวังนี้ ต้องมีการลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลให้ทันก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ความคาดหวังกับจาก 4 เมกะโปรเจ็กต์นี้จะมีการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่า 300,000 ล้านบาทต่อปีใน 5 ปี หนุนให้เกิดการสร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 450,000 ตำแหน่งให้กับเยาวชนไทย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IoTและ start-up และสานต่อการใช้การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวคุณภาพที่สำคัญจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละ 0.8-1%

ท่ามกลางความคาดหวังจากอภิมหาโครงการที่ภาครัฐแสดงโรดโชว์ พร้อมป่าวประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศเข้าร่วมประมูลและมีการลงนามเซ็นสัญญาได้จริงนั้น สังคมยังตั้งข้อสงสัยว่าภาครัฐจะสามารถผลักดันได้สักกี่มากน้อยและจะสานฝันให้เป็นจริงได้สักเพียงไหน

Logistics Time ขอใช้เวทีนี้อัพเดทความคืบหน้า 4 เมกะโปรเจ็กต์ความหวังจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการไหนราบรื่น? โครงการไหนล่าช้าเป็นเรือเกลือ? โครงการไหนส่อล้มไม่เป็นท่า? ดังนี้

ไฮสปีด 3 สนามบินจบจริง?

ประเดิมที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)วงเงินกว่า 220,000 ล้านบาท อีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์เนื้อหอมที่บรรดาเอกชนรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ตบเท้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ซื้อซองเอกสารประมูลมากถึง 31 รายหวังหยิบชิ้นปลามันไปครอง ต่อมามีเพียง 2 กลุ่มเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่ม BSR) และ (2) กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) 

ท้ายที่สุดกลุ่มCPH เป็นผงาดว่าที่ผู้ชนะการประมูลเพราะเป็นผู้เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท จนนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาในเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆโดยคณะกรรมการคัดเลือกฯตั้งแต่เดือนม.ค. 62 กระทั่งล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มาถึงขั้นตอนที่คณะกรรมการคัดเลือกฯเจรจากับกลุ่ม CPH โดยประชุมเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง และประชุมคณะทํางานย่อยเพื่อเจรจาสัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง คาดจะสิ้นสุดบรรลุข้อตกลงในการเจรจาภายใน 26 เม.ย.62 นี้

“ขั้นตอนต่อไปรฟท.จะจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนฯให้สํานักงานอัยการสูงสุด(อสส.)ควบคู่กันไปด้วย คาดจะเป็นวันที่ 10 พ.ค.62นี้ พร้อมเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันที่ 15 พ.ค.62 ก่อนเสนอครม.ในวันที่ 28 พ.ค.62 ต่อไป คาดจะเลยกำหนดลงนามจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนมี.ค.-เม.ย.ไปเป็นเดือนพ.ค.นี้”

กังขา!?กลุ่มซี.พี.ยอมถอย 12 ข้อเสนอขัดTOR        

แม้โครงการฯนี้กำลังเดินหน้าไปได้สวย กระนั้นสังคมก็ยังตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มซี.พี.ยอมถอน 12 ข้อเสนอที่ขัดต่อร่าง TOR และมติครม.จริงหรือไม่?อาทิเช่น การขอเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินโครงการฯในขณะที่TOR กำหนดว่ารัฐจะให้การสนับสนุนในปีแรกที่เปิดให้บริการ ซึ่งตรงกับปีที่ 6 ของการดำเนินโครงการฯรวมทั้งผ่อนชำระสิทธิการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาแอร์พอร์ตเลลลิงก์ 11 ปี จากที่ TORกำหนดให้ชำระเต็มจำนวน 10661 ล้านบาท แม้รฟท.จะยืนยันไม่สามารถรับข้อเสนอเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

“หลังจากนี้คงต้องจับตาว่ารายละเอียดร่างสัญญาไฮสปิดเชื่อม 3 สนามบิน ที่รฟท.ตกลงกับกลุ่มซี.พี.จะเป็นเงื่อนไขที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง หรือยังถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขเอาเปรียบภาครัฐและเอกชนรายอื่นที่ร่วมประมูล เพราะที่ผ่านมารฟท.ยังไม่เคยเปิดเผยให้เห็นไส้ในของการเจรจาที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้นั้นมีรายละเอียดอย่างไร”

“แหลมฉบังเฟส3” ลุ้นต่อ‘กลุ่ม GPC’ลุยไฟซองที่ 3

ฟากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3วงเงินลงทุน 84,000 ล้านบาทอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ความหวังที่ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคทั้งปมดราม่ามีผู้ประมูลโครงการแค่รายเดียวจนต้อง “ล้มประมูล”นำมาสู่การปรับแก้ทีโออาร์-เปิดขายซองเอกสารประกวดราคารอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาให้ล่าช้าไปจากเดิม

กระทั่งล่าสุด เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ได้ประชุมพิจารณาซองเอกสารประกวดราคาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ซึ่งมี 2 กลุ่มบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนยื่นซองเสนอราคา ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC และกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP โดยทั้ง 2 กลุ่มผ่านหลักเกณฑ์ในซองเอกสารหลักฐาน (ซองที่ 1)

“แต่ข้อเสนอ (ซองที่ 2) คือ คุณสมบัติทั่วไปของนักลงทุน คุณสมบัติทางการเงิน และประสบการณ์ผู้ยื่นข้อเสนอ กลุ่ม  NCP ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องตามเอกสาร RFC (Request for Proposal) ที่ได้กำหนดไว้ จึงส่งผลให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ และต้องทำการตัดสิทธิกลุ่ม NCP ในการเข้าประกวดราคา มีเพียงกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัตินี้ไป”

ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะทำการพิจารณาเอกสารของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ในซองที่ 3 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการฯ หากผ่านเกณฑ์ จะไปทำการเปิดข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน (ซองที่ 4) และข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ (ซองที่ 5) ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการ กทท. ทราบต่อไป

ส่อดราม่ารอบ 3? หลังกลุ่ม NCP บุกร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

ภายหลังคณะกรรมการคักดเลือกฯตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ในการเข้าประกวดราคา และส่อดราม่ารอบ 3 เมื่อกลุ่มNCP บุกร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกทท.เปิดประมูลบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 “ไม่โปร่งใส” เล็งยื่นร้องปปช.และศาลปกครองกลางต่อไป

โดยนายเผด็จ เมธิยานนท์ ในนามผู้แทนกลุ่ม NPC กล่าวว่าหลังผู้อำนวยการกทท.ได้มีหนังสือแจ้งมายังกลุ่ม NPC ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2562 โดยแจ้งว่ากลุ่ม NPC ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ทั้งที่เรายืนยันได้ดำเนินการยื่นเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติทั่วไปโดยถูกต้องครบถ้วนตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดใน RFP กลุ่ม NPC เห็นว่าได้รับความเสียหายอีกทั้งยังกระทบต่อผลประโยชน์ที่ทางกทท.จะได้รับเนื่องจากจะเหลือผู้เข้าประมูลอีกเพียง 1 ราย ที่อาจจะผ่านเข้าไปเปิดซองผลประโยชน์ต่างๆตอบแทนให้กทท.

“อีกทั้งทางกลุ่ม NPC มั่นใจว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่นำเสนอให้ภาครัฐในครั้งนี้ในส่วนซองที่ 4 จะแข่งขันได้จึงมีความมั่นใจ หากโดนตัดสิทธิ์อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงขั้นตอนของการพิจารณาเสนอข้อมูลเบื้องต้นและทางกลุ่มจัดทำเอกสารครบถ้วนจึงไม่เป็นธรรมกับกลุ่ม NPC และกทท.ตลอดจนประเทศชาติเสียผลประโยชน์มหาศาลจึงได้เข้ามาร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว พร้อมกับเตรียมร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ศาลปกครองกลาง ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบและศาลแพ่งต่อไป”

ขณะที่นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้แทนกลุ่ม NPC ร้องว่าได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุนของกทท. ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของกทท. ผู้อำนวยการกทท. และคณะกรรมการคัดเลือกฯที่อาจส่งผลต่อความโปร่งใส ความชอบด้วยกฏหมาย ของกระบวนการคัดเลือกในครั้งนี้

“เบื้องต้นเห็นว่าสามารถจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกันได้ โดยต้องฟังความของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และทราบว่ากลุ่ม NPC ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์กับกทท.ไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งตรวจสอบโดยเร็วต่อไปพร้อมกับเชิญกทท.เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงในครั้งนี้ด้วย โดยจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนห้วงเวลาให้คำตอบกับกลุ่ม NPC นั้นยังไม่สามารถบอกได้ แต่จะดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นธรรม เรื่องที่ถูกร้องเรียนอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ จะต้องเสนอความเห็นข้อกฏหมายไปตามคำร้องดังกล่าวเพื่อประทับรับฟ้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป”

กนอ.เร่งสรุป “มาบตาพุดเฟส3” ยันลงนามร่วมทุน 4 มิ.ย.นี้

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่1) วงเงินลงทุน10,154 ล้านบาท โดยดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กนอ.เร่งดำเนินการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการฯให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา ซึ่ง กนอ.พร้อมที่จะเร่งดำเนินการและมั่นใจว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ภายในวันที่ 4 มิ.ย.62 นี้

“โครงการฯนี้มีผู้ซื้อเอกสารจำนวน 18 ราย และมีเอกชนยื่นข้อเสนอจำนวน 1 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ได้แก่ กัลฟ์และพีทีทีแทงค์ โดยได้มีการเปิดซองเพื่อพิจารณาคุณสมบัติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 และมีการเปิดซองด้านเทคนิคเมื่อ 26 ก.พ.2562และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องของข้อเสนอด้านราคาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดคาดว่าจะสามารถเจรจากับภาคเอกชนได้ภายในเดือน เม.ย.2562และสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบและลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ประมาณต้นเดือน มิ.ย.2562นี้” 

เมืองการบินอู่ตะเภา ส่อวุ่นกลุ่มซี.พี.ร้องศาลปมตัดสิทธิ์อู่ตะเภา

ปิดท้ายกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกบนพื้นที่ 6.5 พันไร่ ถือเป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบลงทุนมากที่สุดใน 5 เมกะโปรเจ็กต์ EEC ถึง 2.9 แสนล้านบาทโดยภาครัฐจะลงทุน 1.7หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชน โดยมีกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดขอบโครงการในฐานะเจ้าของพื้นที่สนามบิน โดยผู้ชนะการประมูลจะได้สัมปทานเป็นเวลา 50 ปี

ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นข้อเสนอ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) 2.กลุ่ม Grand Consortium และ 3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จากัด และพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประเมินข้อเสนอและมีกำหนดประกาศผลผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด คณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นประธานได้เปิดซอง 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ของเอกชน 3 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้ประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาในวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากกลุ่มซี.พี. 1 ใน 3 ของผู้ยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าว ระบุว่า ได้ยื่นศาลปกครองกรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ได้แจ้งมติจากที่ประชุมและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน มายังตัวแทนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการ (ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากข้อกำหนดโครงการฯ ให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนต้องเป็นความลับ) 

ดังนั้น กลุ่มซี.พี. ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา จึงได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว

ทร.ยัน กลุ่มซี.พี.ยื่นซอง2-3ล่าช้า 9 นาที

ฟากกองทัพเรือ (ทร.) ก็โต้ทันควันกลุ่มซี.พี.ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขณะนี้กองทัพเรือกำลังพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องศาลปกครองดังกล่าว โดยการยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ต้องยื่นเอกสารภายในเวลา 15.00 น. โดยกลุ่มซี.พี.ยื่นเอกสารซอง 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ในเวลากำหนด แต่มีเอกสาร 2 ส่วน ที่ยื่นเพิ่มเติมหลังครบกำหนดเวลาไปแล้ว คือ 1.เอกสารซอง 2 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุน) 2.เอกสารซอง 3 (ข้อเสนอผลตอบแทนรัฐ) ซึ่งทำให้ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ นำเรื่องนี้มาพิจารณาประกอบเอกสารเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนอย่างละเอียด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ใช้เวลาในการตรวจสอบซอง 1 ค่อนข้างนาน เนื่องจากข้อมูลที่เอกชนแต่ละรายส่งมานั้นมีจำนวนมาก อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องตรวจสอบข้อมูลของเอกชนทุกรายที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้งนำกลุ่ม (ลีดเฟิร์ม) และพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่ม 

จากนี้ไปจะลงเอยอย่างไรนั้นต้องจับตาเป็นพิเศษหลังศาลฯได้รับคำร้องฯจากกลุ่มซี.พี.ไว้พิจารณา จะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการกระเตงโครงการเมืองสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านนี้สะดุดลงหรือไม่?

หลังสแกนความคืบหน้าล่าสุดทั้ง 5 เมกะโปรเจ็กต์ความหวังแล้ว เมื่อเทียบกับไทม์ไลน์ที่เหลือแล้ว กับความหวังและประกาศิตรัฐบาลลงตู่ ต้องมีการลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลให้ทันก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น ดูมุมไหนก็ยากจะทันเดทไลน์ได้ ซ้ำร้ายบางโครงการยังส่อดราม่าเผชิญวิบากกรรมลากยาวจนอาจมองไม่เห็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์

อีกมุมหนึ่งกับการเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ความหวังที่มูลค่าการลงทุนมหาศาล ต้องใช้เวลาในการพิจารณาและต้องรอบคอบในทุกขั้นตอน หากพลาดขึ้นมาจะซ้ำรอย “ค่าโง่โฮปเวลล์”เมกะโปรเจ็กต์สุดอัปยศที่ภาครัฐต้องจำไว้เป็น “อุทาหรณ์สยองใจ!”