อดีต รมว.คลัง ติงรถไฟเร่งปิดดีล “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” ชี้ทำรัฐเสียประโยชน์มหาศาล

0
110

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ FB Thirachai Phuvanatnaranubala หัวข้อ “ผู้บริหาร รฟท. ไม่ฟังเสียงเตือนผิดกฎหมาย เดินหน้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินไม่หยุดยั้ง!”

โดยระบุถึงกรณีที่การรถไฟฯ เร่งรัดเจรจากับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร (ซีพี) ในโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินว่า โดยสภาพของการเดินทางนั้นผู้โดยสารหลักจะเดินทางระหว่างเมือง มากกว่าระหว่างสนามบินอู่ตะเภามากรุงเทพ จึงจะสามารถใช้ระบบรางคู่ยกข้ามจุดตัดกับถนนเพื่อทำความเร็วปานกลางได้พอเพียงอยู่แล้ว

แต่กลับจะทำโครงการไฮสปีดที่ใช้เงินของประชาชนไปสนับสนุนเอกชนกว่า 117,227 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดินเพื่อให้เอกชนใช้ประโยชน์อีก 3,570 ล้านบาท รวมทั้งรัฐยังต้องรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ของ รฟท. อีก 22,558 ล้านบาท รวมจะต้องใช้เงินประชาชนเพื่อสนับสนุนให้เอกชนถึง 143,355 ล้านบาท ทั้งที่การปรับรถไฟรางคู่ให้เป็นความเร็วปานกลางจะมีประสิทธิภาพพอเพียงและจะลงทุนน้อยกว่าหลายเท่า

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รฟท. ได้ลงทุนใน “แอร์พอร์ต เรลลิงค์” ไปแล้วกว่า 35,660 ล้านบาท และได้แบกภาระขาดทุนมาตลอด จนขณะนี้ติดตลาดแล้ว มีผู้โดยสารแต่ละวันจำนวนมาก แต่เอกชนกลับจะได้ “แอร์พอร์ต เรลลิงค์” ไป โดยจ่ายเงินค่าสิทธิ์บริหารโครงการให้ รฟท. เพียง 10,671 ล้านบาทเท่านั้น

แม้ รฟท. จะได้ค่าเช่าที่ดินมักกะสัน 51,834 ล้านบาท แต่มิใช่ได้รับเป็นก้อนในทันที จะทยอยจ่ายในระยะเวลา 50 ปี คำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันได้เพียงประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม Fair value หลายเท่า

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ถึงแม้ตีมูลค่าที่ดินมักกะสันต่ำ แต่ รฟท. จะได้ชดเชยกำไรจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ โดยกรณีที่รายได้รวมก่อนหักภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสูงกว่ารายได้ที่เอกชนคู่สัญญาเสนอมามากกว่า 30% แต่ไม่เกิน 50% ให้แบ่งรายได้ให้ รฟท. 20% ของส่วนที่เกิน ส่วนกรณีที่รายได้รวมก่อนหักภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสูงกว่ารายได้ที่เอกชนคู่สัญญาเสนอมามากกว่า 50% ขึ้นไป ให้แบ่งรายได้ให้ รฟท. 40% ของส่วนที่เกิน นั้น ผู้กำหนดเงื่อนไขคงไม่ได้ดูปัญหาดิวตี้ฟรีที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งวาดฝันให้รัฐได้รับส่วนแบ่งจากยอดขาย แต่ปรากฏว่า มีปัญหาในการจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับบันทึกรายได้ ณ จุดขาย Point Of Sale

ส่วนกรณี รฟท. เป็นผู้นำที่ดินออกประมูลเอง สตง. มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบ แต่เมื่อโยกที่ดินออกไปอยู่ในโครงการเอกชนอย่างนี้ สตง. ไม่มีอำนาจตรวจสอบเอกชน ดังนั้น รัฐจึงควรจะเปลี่ยนวิธีประมูล โดยใช้หลักการผลประโยชน์จากรายได้ส่วนเกิน เฉพาะกรณีที่มีกลไกที่รัฐสามารถตรวจสอบเพื่อยืนยันความเป็นธรรมในตัวเลขต่างๆ อย่างแน่นอนเท่านั้น

โครงการนี้เป็นการ “บอนไซ” รฟท. อย่างแรง เพราะเปลี่ยนสภาพจาก operator ทำกิจการรถไฟดูแลประชาชน ไปเป็น landlord ที่ยกที่ดินให้เอกชนทำกิน และยกกิจการรถไฟไปให้เอกชนทำกันเอง ผมจึงจะเร่งทำหนังสือท้วงติงเพื่อให้ข้อคิดแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป”