สิ้นสุดการรอคอย!สำหรับคดีมหากาพย์กรณีข้อพิพาทระหว่าง “โฮปเวลล์” กับ “กระทรวงคมนาคม” หลังศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่งกระทรวงคมนาคมต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ จ่ายคืนเงิน 1.2 หมื่นล้านให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ปิดฉากคดีมหากาพย์สุดอัปยศ 29 ปี
วันนี้ (22เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้องมีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่8พ.ย.51โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
ย้อนปูมหลังคดีมหากาพย์กับโครงการสุดอัปยศ!
โครงการ “โฮปเวลล์” หรือโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ในสมัยรัฐบาลเจ้าของวลีเด็ดในตำนาน “No Problem” อย่างพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มุ่งหวังเพื่อแก้ปัญหาการจราจร
โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ ตามสัญญาผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง และผลการประมูลครั้งนั้น บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของฮ่องกง เป็นผู้ชนะ
ดูเหมือนว่าการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โฮปเวลล์ เป็นผู้ชนะการประมูลและผู้ดำเนินการก่อสร้างนี้สร้างความฮือฮาอย่างมากในเวลานั้น เมื่อเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2534 – 5 ธันวาคม 2542 โดย แบ่งเป็น 5 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร
แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า และต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา!
กระทั่งหลังรัฐประหารในปี 2534 รัฐบาลผู้ดี “อานันท์ ปันยารชุน” ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดก่อนประกาศเปรี้ยง!ล้มโครงการ แม้ต่อมารัฐบาลใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง “ชวน หลีกภัย” จะปัดฝุ่นผลักดันโครงการต่อ
แต่สุดท้ายก็ยกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 มกราคม 2541 ทำให้ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญา กลายเป็นคดีความยืดเยื้อมาอย่างยาวนานถึง 29 ปี จนมาถึงคราวันปิดฉากคดีมหากาพย์กับโครงการสุดอัปยศในวันนี้
ที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดใ้หกระทรวงกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหลังบอกเลิกสัญญา กลายเป็นเงินค่าโง่ก้อนโต 1.2 หมื่นล้านบาทให้กับโฮปเวลล์ ถือเป็น “ค่าโง่ซ้ำซาก”อีกหนึ่งในโครงการยักษ์ที่ภาครัฐเสียท่าภาคเอกชนจากผลงานการ “สวาปาม”จนพุงกางของใครมั่ง?
ส่วนซากโครงการสุดอัปยศนี้ คงทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความขมขื่นใจประจาน “ค่าโง่” ให้อนุชนรุ่นหลัง “อนาถลึกสุดใจ” ประชาชนขอถามหน่อยเหอะ แล้วใครหน้าไหนล่ะจะรับผิดชอบ?
:ปีศาจขนส่ง