วิศวะฯ มธ. เปิดตัว “เอสซิท” แพลตฟอร์มแจ้งเตือนพฤติกรรมผู้ขับขี่ ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ

0
315

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัว “เอสซิท” (SCIT)  แพลตฟอร์มเอไอสุดล้ำรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยระบบแจ้งเตือนพฤติกรรมผู้ขับขี่เมื่อง่วงนอน คุยโทรศัพท์ ขับส่ายไปมา ไม่อยู่บนเส้นทาง พร้อมเทคโนโลยีคัดกรองความรุนแรงของการชน ก่อนนวัตกรรมดังกล่าว จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วยลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ตัวช่วยใหม่อุ่นใจทุกการเดินทาง ติดตั้งง่าย รถรุ่นไหนก็ใช้งานได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะฯ ได้เปิดตัว “เอสซิท” (SCIT) แพลตฟอร์มช่วยชีวิตจากอุบัติเหตุในรถยนต์ ซึ่งพัฒนาร่วมกับ บริษัท ไอโออะเดย์ จำกัด ที่คิดค้นจากสภาพปัญหาการใช้งานจริงบนท้องถนน โดยการทำงานของ “เอสซิท” จะเริ่มตั้งแต่ผู้ขับขี่สตาร์ทรถ ซึ่งทีมวิจัยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่ และทำหน้าที่แจ้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่อยู่ในสภาวะเสี่ยง เช่น ง่วงนอน คุยโทรศัพท์ ที่อาจทำให้รถส่ายไปมาไม่อยู่ในเส้นทาง ซึ่งมีระบบส่งเสียงเตือนช่วยให้ผู้ขับขี่รู้สึกตัว

นอกจากนี้ “เอสซิท” ยังมาพร้อมกับระบบการขอช่วยความช่วยเหลือแบบอัตโนมัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้เอไอช่วยในการคัดกรองความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เป็น 2 แบบ คือ ชนหนัก และชนเบา โดยเมื่อระบบประมวลผลแล้ว จะเป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ที่ติดตั้งมากับอุปกรณ์นี้ จะส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือออกไป สำหรับรูปแบบการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของ “เอสซิท” จะแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

  1. กรณีชนหนัก ระบบประมวลผลจากการสั่น ความเร็ว และความแรง โดยจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยกู้ภัยและรถพยาบาลที่อยู่บริเวณใกล้ที่สุดโดยอัตโนมัติ พร้อมระบุพิกัดจุดเกิดเหตุ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันเวลา
  2. กรณีชนเบา ระบบจะแจ้งเตือนผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนของผู้ขับขี่ผ่านแอปพลิเคชันสติคิท (Satikit) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา เพื่อให้ผู้ขับขี่ยืนยันการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว จากนั้นระบบส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยกู้ภัย บริษัทประกันภัย รถพยาบาล รถลาก เป็นต้น

ปัจจุบัน “เอสซิท” อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเตรียมต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งต้องเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจทางหลวง หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน รถกู้ชีพ บริษัทประกันภัย เป็นต้น โดยล่าสุด TSE ได้ส่งนวัตกรรม “เอสซิท”  เข้าประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งสะท้อนบทบาทความเป็นผู้นำด้านหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรม ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของ TSE เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิศวกรรมครบวงจรของคนรุ่นใหม่

“TSE ได้เล็งเห็นความก้าวหน้าด้านยนตรกรรมในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก เอามาใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ไม่แพ้การดีไซน์ให้สวยงามและสมรรถนะที่ทรงพลัง และยังเป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้นอีกด้วย  ซึ่งสถิติจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่า 40% เกิดจากเข้าช่วยเหลือไม่ทันและผิดวิธี ซึ่งปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ในปี 2561 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเรื่องความปลอดภัยมากเพียงใด ผู้ขับขี่ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่อยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญที่มีรถสัญจรบนถนนจำนวนมาก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล กล่าวทิ้งท้าย