ผลพวงจากปัญหาสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ บวกด้วยแรงเหวี่ยงฝุ่นพิษPM2.5 ที่เล่นงานคนกรุงและปริมณฑลจนงอมพระราม จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐต้องออกงัดมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหากันสุดลิ่มทุ่มประตู
เริ่มที่กระทรวงพลังงาน รุกบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงาน “ปตท.-บางจาก”นำร่องเปิดขาย B20 ในปั้มน้ำมัน 10 แห่งทั่วกรุงและปริมณฑล พร้อมไล่บี้ค่ายรถบรรทุกในเมืองไทยทำคลอดรุ่นรถที่สามารถใช้กับ B20 ได้
ขณะที่บรรดาค่ายรถใหญ่หลากหลายสายพันธุ์แม้จะก็ออกโรงพร้อมหนุนนโยบายรัฐเต็มพิกัด แต่มิวายส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญ B20 ใช้ได้เฉพาะรถบรรทุกเฉพาะรุ่นเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับจูนเครื่องยนต์และปรับตารางการบำรุงรักษาใหม่ให้เหมาะสมการใช้งานจึงจะเกิดประสิทธิภาพได้
แม้จะเห็นการตื่นตัวของทุกภาคส่วนในการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ทำไปทำไปทำมามิวายถูกสังคมตั้งข้อสงสัยพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ร้อนระอุโลกโซเชียลว่าสรุปแล้วภาครัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด “เกาไม่ถูกที่คัน” เป็นการแก้ปัญหาแบบจับแพะชนแกะ หรือไม่? ทิศทางการแก้ปัญหาไปคนละทิศละทาง?
ฟากประเด็นน้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อพี่น้องรถใหญ่ที่ภาครัฐผูกปิ่นโตความมือกับภาคเอกชนช่วยกันโหมโรงพลางชูจั๊กกะแร้กันสุดลิ่มก็มิวายถูกสังคมตั้งข้อกังขากันให้แซด!
สรุปแล้วจะมีผู้ประกอบการขนส่งสักกี่หยิบมือเห็นด้วยและเข้าร่วมโครงการ? เพราะอาจมองไม่เห็นจุดคุ้มทุนกับสิ่งที่ต้องจ่ายเพิ่มทั้งการค่าปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ต่อคันอีกบาน? ไหนจะค่าบำรุงรักษาที่ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น? ไหนจะต้องกังวลสถานีบริการน้ำมันที่ขาย B20 ทีมีเพียงน้อยนิด? ไหนจะต้องใส่ใจกับการดูแล/บำรุงรักษารถอย่างระมัดระวัง? ไหนจะซุ่มเสี่ยงต่อการพังเสียหายของเครื่องยนต์เร็วกว่าปกติ?
B20 ภาคขนส่งใครได้-เสีย?
อ.มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยชาญด้านพลังงาน ได้สะท้อนมุมมองต่อนโยบายรัฐในการส่งเสริม B20 ภาคขนส่งของภาครัฐว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพมากที่สุดในอาเซียน หรืออาจจะในเอเชียด้วยซ้ำไป เพราะเรามีเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพจำหน่ายและให้เลือกใช้อยู่หลายชนิดมากมาย ทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซล
“กลุ่มเบนซินก็มีทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล 95/91 E20 และ E85 และกลุ่มดีเซล เราก็มีน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งมีส่วนผสมของ B100 ขึ้นลงระหว่าง B2-B7 แล้วแต่ปริมาณน้ำมันปาล์มในท้องตลาด และล่าสุดยังมีดีเซล B20 ที่ภาครัฐส่งเสริมเพื่อภาคขนส่งโดยเฉพาะรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยรัฐยกเหตุผลเพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้กับผู้ประกอบการขนส่ง เพราะมีราคาถูกว่าดีเซลปกติถึง 3 บาท/ลิตร อีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรสวนปาล์ม ที่สำคัญ B20 ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
ถึงกระนั้น อ.มนูญ ยังฝากข้อคิดไปถึงภาครัฐด้วยว่าแม้ภาครัฐจะมีเหตุผลในการผลักดันนโยบายนี้ก็ตาม ส่วนตัวผมแล้วก็อยากให้กระทรวงพลังงานใคร่ครวญให้ดีๆและมองระยะยาวที่จะเกิดความยั่งยืน นโยบายการเปิดจำหน่าย B20 ที่กระทรวงฯจับมือกับผู้ค้าปลีกเปิดจำหน่ายตามปั้มน้ำมันแม้จะเป็นการทดลองเพียงไม่กี่แห่ง และต้องการขายเฉพาะรถบรรทุกเท่านั้นก็ตาม
“นอกจาก B20 ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานและรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไปแล้ว การส่งเสริมยังจะเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯและผู้ใช้น้ำมันมากขึ้นในอนาคต เป็นภาระที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นตามยอดการจำหน่าย จนไม่สามารถเลิกได้ในที่สุด เหมือน E85 ที่เราไม่ควรส่งเสริมตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป สู้ใช้ความพยายามมาผลักดันน้ำมันดีเซล B7 ให้เป็น B10 ทุกภาคส่วนน่าจะได้ประโยชน์กว่า”
ระวัง!จะพังซ้ำรอย E85
อ.มนูญ กล่าวอีกว่าน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพมากๆอย่างแก๊สโซฮอล E20/E85 และดีเซล B20 เราต้องใช้เงินกองทุนฯมาอุดหนุนเพื่อให้มีราคาต่ำลง ขณะนี้อุดหนุน E85 อยู่ถึง 6.38 บาท/ลิตร และ B20 อุดหนุนอยู่ 4.50 บาท/ลิตร แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันจะขยับสูงขึ้นมาบ้างแล้ว (50-60$/bbl.) แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในระยะยาว ราคาน้ำมันน่าจะยังไม่สามารถขยับขึ้นสูงเกินกว่า 80$/bbl.ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้แสดงว่าเชื้อเพลิงชีวภาพน่าจะยังไม่สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ไปอีกหลายปี
“สิ่งที่ภาครัฐควรใคร่ครวญต่อไปก็คือนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจึงควรผลักดันอย่างระมัดระวัง และไม่ควรทำให้เกิดความผิดพลาดเหมือนในอดีต ที่ส่งเสริมเปรอะไปหมด ทั้งแก๊สโซฮอล 95/91 E20/E85 ทั้งๆที่เราควรเลือกที่จะส่งเสริมเพียงหนึ่งหรือสองชนิดเท่านั้น และไม่ควรส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ต้องอุดหนุนมากๆอย่างเช่น E85 แต่ควรส่งเสริม E20 แทนอย่างนี้เป็นต้น
นอกจากนี้ อ.มนูญ ย้ำว่าการนำ E85 มาจำหน่ายนั้น เกิดจากแรงผลักดันทางการเมือง และนำมาซึ่งความผิดพลาดในเชิงนโยบายในปัจจุบัน เพราะราคาไม่สามารถแข่งขันได้ และอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯเท่านั้นแต่กลับเป็นว่าปัจจุบัน E85 ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้รถ ถึงแม้รถของตนจะเติม E85ได้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะส่วนต่างราคายังไม่จูงใจ เนื่องจากอัตราการใช้สิ้นเปลืองกว่า และหาปั้มเติมได้ยาก (มีเฉพาะในปั้มปตท.และบางจากบางแห่งเท่านั้น) อีกทั้งการที่เรามีชนิดของน้ำมันมากเกินไปก็ทำให้การบริหารจัดการของผู้ประกอบการมีความยุ่งยาก ต้องลงทุนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น และผลักภาระมาให้ผู้บริโภคในที่สุด
แนะรัฐส่งเสริม B10 ดีกว่า
ต่อประเด็นรัฐมุ่งเป้าหมายจำหน่าย B20 ให้ได้ 30ล้านลิตร/เดือนนั้น อ.มนูญ ให้ความเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณภาพน้ำมัน B20 ค่ายรถยนต์ต่างๆยังไม่รับรองเลย โจทย์ที่รัฐต้องดำเนินการต่อไปก็คือทำอย่างไรค่ายรถยนต์ต่างๆถึงจะให้การยอมรับกับน้ำมันดีเซล B20 เพราะเวลานี้ B20 ใช้ได้กับรถยนต์เก่าหลักเท่านั้น แม้จะสามารถปรับจูนเครื่องยนต์ให้ใช้ได้ แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและต้องหมั่นดูแลเครื่องยนต์กว่าเดิมอีก ค่ายรถก็ไม่แนะนำให้ใช้อยู่ดี และเป็นแบบนี้คิดข้ามช็อตไปว่าแล้วผู้ประกอบการขนส่งจะให้การตอบรับสักกี่มากน้อย
“ประเด็นมันอยู่ที่ B20 อาจทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายได้ ผู้ผลิตรถยนต์จึงไม่แนะนำให้ใช้ ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งมีความกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ผมยืนยันว่าอย่าไปเพิ่งไปพูดไปไกลถึง B20 เลย สู้ภาครัฐใช้ความพยายามผลักดัน B10 ดีกว่า ยี่งรัฐอุดหนุนให้จำหน่าย B20 มากเท่าไหร่ รัฐเองก็ต้องนำเงินกองทุนฯมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในเชิงธุรกิจอยู่แล้ว พอถึงวันหนึ่งภาครัฐเลิกอุดหนุน หรืออุดหนุนน้อยลง ถึงวันนั้นก็ไม่อาจจูงใจคนมาใช้ ก็จะซ้ำรอย E85 นั่นเอง”