122 ปีองค์กรม้าเหล็กไทย เดินหน้ายกระดับศักยภาพองค์กรหลักให้บริการระบบราง ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าอย่างมุ่งมั่น ขับเคลื่อนสู่การเติบโตระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์สู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวภายหลังการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 122 ปี ว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 122 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดงานเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย พร้อมกันนี้ การรถไฟฯ ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญครั้งนี้ ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) อีกหลากหลายกิจกรรม
ประกอบด้วย การจัดเดินขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์กรุงเทพ – อยุธยา การจัดโครงการร่วมกับสมาคมส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายภาพจัดโครงการถ่ายภาพกับหัวรถจักรไอน้ำ และปริ้นท์ภาพฟรี บริเวณจุดปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้กับนักท่องเที่ยวไว้เป็นที่ระลึก เพื่อส่งเสริมการถ่ายภาพให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นความสวยงามของหัวรถจักรไอน้ำที่ทรงคุณค่าทรงประวัติศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการครบรอบ 122 ปีของการรถไฟฯ โดยถ่ายทอดผ่านพยัญชนะอักษรไทย ก-ฮ ทั้ง 44 ตัว
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของประเทศที่ให้บริการระบบราง ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าอย่างมุ่งมั่น และในปัจจุบันการรถไฟฯ ยังได้ดำเนินการแผนยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางรางของประเทศ การพัฒนาองค์กรและการจัดการให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ ตลอดจนการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยยังได้จัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว เพื่อให้เห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 โดยได้ดำเนินภารกิจสำคัญ ๆ ได้แก่ การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย การพัฒนาที่ดินแปลงสำคัญ ๆ ให้กลายเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจแห่งใหม่ของไทยและภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ทั้งระบบ การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองสำคัญของประเทศสู่อาเซียน การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมืองเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองกับพื้นที่ชานเมือง และหัวเมืองโดยรอบ ตลอดจนการจัดหาหัวรถจักร รถโดยสารรุ่นใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ