ลุงตู่มาเอง!ตามคืบหน้า “สถานีกลางบางซื่อ”รุดหน้า 70.86 %

0
209

“นายกฯลุงตู่”  ลงพื้นที่ติดตามคืบหน้า “สถานีกลางบางซื่อ”ศูนย์กลางคมนาคมทางรางใหญ่และทันสมัยสุดในอาเซียน คืบหน้าร้อยละ 70.86

วันนี้ (20 มี.ค. 62) ณ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ”โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมโครงการก่อสร้าง

สำหรับ สถานีกลางบางซื่อ ได้ออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ และยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1 ซึงมีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT

ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. คาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2564 โดยที่ชั้น1 และชั้น 2 มีชั้นลอยซึ่งเป็นร้านค้าและห้องควบคุมมีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม.

และชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา

อีกทั้งยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย โดยปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้าในการก่อสร้างร้อยละ 70.86

สำหรับรถไฟที่จะนำมาให้บริการ เป็นของ Hitachi ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดในการให้บริการ อยู่ที่ 120 กม./ชม. ใช้ขนาดทาง 1,000 มม. มีขบวนรถไฟ 2 แบบ คือ 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,710 คน และ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,120 คน และใช้ระบอาณัติสัญญาณรูปแบบ European Train Control System (ETCS) Level 1

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการสถานีที่ รฟท. ได้เตรียมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา งานซ่อมบำรุงตัวรถ อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ

ส่วนงานด้านซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ รฟท. ได้ดำเนินการในสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ส่วนสถานีอื่นๆ อยู่ระหว่าง รอคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 300,000 คน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟ ชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งทางรางอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้