เปิดแล้ว!เส้น 304-อุโมงค์เชื่อมผืนป่าเขาใหญ่-ทับลาน

0
791

เปิดแล้ว ! ทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย ต้นแบบทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกแห่งแรกไทย ตอกย้ำการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงคมนาคมเคียงคู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดใช้ทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก) ว่า ทางหลวงหมายเลข 304 เป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางสายหลักรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันทางหลวงสายนี้ได้มีการขยายเส้นทางเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว ยกเว้นบริเวณ กม.191+860 ถึง กม.195+310 และบริเวณกม.207+760 ถึง กม.233+269 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากแนวเส้นทางดังกล่าวอยู่ในพื้นที่รอยต่อของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อ 14 ก.ค.48 ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยดำเนินการจัดทำแนวเชื่อมต่อ (Wildlife Corridor) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้ได้รับอันตรายจากถูกรถชน

อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยต่อไปอีกว่า กรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญและคำนึงถึงการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงคมนาคมที่สำคัญ บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย ควบคู่กับการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่าบริเวณ กม.191+860 ถึง กม.195+465 และบริเวณ กม.207+760 ถึง กม.233+269 ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร รวมระยะทางประมาณ 19 กม. โดยแบ่งการก่อสร้างสร้างเป็น 3 ตอน ดังนี้
1) โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) บริเวณ กม.191+860 ถึง กม.195+310
2) โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.วังน้ำเขียว ตอน 3 (ส่วนที่ 1) บริเวณ กม.207+760 ถึง กม.216+560
3) โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.วังน้ำเขียว ตอน 3 (ส่วนที่ 2) บริเวณ กม.216+560 ถึง กม.223+269

ความโดดเด่นของโครงการ คือ การก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่าที่ได้ออกแบบเป็นอุโมงค์ชนิดดินตัดและถมกลับ (Wildlife Overpass) ที่บริเวณ กม.194+485 ถึง กม.194+990 โดยถมดินด้านบนอุโมงค์ ปลูกต้นไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และระบบนิเวศ เพื่อจูงใจให้สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ และสามารถข้ามฝั่งไป-มาได้ ปัจจุบันบริเวณหลังคาของอุโมงค์พบรอยเท้าของสัตว์ป่าข้ามไป-มาหากันทั้งสองผืนป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน 

นอกจากนี้ โครงการยังได้ก่อสร้างสะพานทางยกระดับเพื่อเป็นทางลอดสัตว์ป่า (Wildlife Underpass) ที่กม.192+935 ถึง กม. 193+505 ระยะทาง 570 เมตร และ กม. 209+483 ถึง กม. 209+823 ระยะทาง340 เมตร ซึ่งรถสามารถวิ่งบนสะพาน ในขณะเดียวกันสัตว์ป่าสามารถลอดใต้สะพานไป-มาได้อย่างปลอดภัย อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งมรดกทางธรรมชาติ ส่งเสริมระบบนิเวศ ซึ่งเป็นคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทาง เสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ภายใต้การพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงคมนาคมควบคู่ไปกับใส่ใจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน