ยังคงเป็นประเด็นสุดร้อน ที่ทำเอาประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้แต่อึ้งกิมกี่
กับมติของคณะกรรมการ(บอร์ด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสายบางประอิน-ปากเกร็ด ที่เห็นชอบให้ขยายอายุสัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้นที่2 ช่วงพระราม9-ศรีนครินทร์ และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 37 ปีหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2563 เพื่อเซ็ตซีโร่หนี้พิพาท 1.37 แสนล้านบาทที่ กทพ.มีอยู่กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม
ท่ามกลางการคัดค้านอย่างสุดลิ่มของสหภาพรัฐวิสาหกิจกทพ.ที่นัดแต่งดำคัดค้านมติบอร์ดกทพ.โดยระบุว่าหากบอร์ดกทพ.ยังคงดันทุรังต่อไปทาง สหภาพรัฐวิสาหกิจ กทพ.จะยกระดับการคัดค้าน โดยจะเดินทางเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างถึงที่สุด
ที่มาของมติ”อัปยศ”ขยายอายบุสัญญาสัมปทานออกไปถึง 37 ปีเปิดทางบริษัทเอกชน “ชุบมือเปิบ”ผลประโยชน์สาธารณะไปถึง 37 ปีนั้น นัยว่าเป็นมูลค่าหนี้ที่มาจากข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในปัจจุบันกรณีรัฐสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต จนไปกระทบผู้รับสัมปทานที่ศาลตัดสินไปแล้ว 4,200 ล้านบาท
และยังมีคดีที่บริษัท เอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กทพ.อีก 61,000 ล้านบาท ทั้งยังมีหนี้ในลักษณะเดียวกันอีกนับสิบคดีที่คาดว่าในอนาคตอันใกล้คงจะทำให้ กทพ.งานเข้าต้องจ่ายชดเชยความเสียหายมูลหนี้กว่า 70,000 ล้านบาท บอร์ดกทพ.จึงต้องการ “เซ็ตซีโร่” เคลียร์หน้าเสื่อหนี้ทั้งหมด โดยการเจรจากับ BEM เพื่อขยายอายุสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 แลกกับเซ็ตซีโร่มูลหนี้พิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้น
โดย นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เปิดเผยว่าแนวทางที่บอร์ดกทพ.ดำเนินการไปนั้นสอดคล้อง และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตร (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 61 ที่ให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาภาระหนี้ ให้ กทพ. เจรจากับเอกชน ซึ่ง กทพ. มีทางเลือกจำกัด ระหว่างการจ่ายเงินชำระหนี้เอกชน ซึ่งมีมูลค่าสูง และการขยายเวลาสัมปทาน จึงพิจารณาแนวทางที่ยังประโยชน์ต่อภาครัฐมากที่สุดคือ เจรจาขยายอายุสัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้น 2 ออกไปอีก 37 ปี โดยในสัญญา 37 ปีนั้นจะแบ่งรายได้ให้ กทพ. ที่สัดส่วน 60 ส่วนเอกชนได้ 40 ขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนต้องก่อสร้างทางเพิ่มเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 จากอโศก-ประชาชื่น ระยะทาง 17 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 32,000 ล้านบาท เพื่อระบายรถและแก้ปัญหาจราจร โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม
คำถามที่รัฐบาลคสช.ที่ป่าวประกาศจุดยืนจะไม่ยอมให้คนโกงมีที่ยืนในสังคมต้องตอบประชาชนก็คือจะโยนบรรดาค่าโง่ที่เกิดขึ้นทั้งมวลนี้มาให้ประชาชนคนไทยรับกรรมแทนกระนั้นหรือ? ค่าโง่ที่เกิดขึ้น ทั้งที่บางรายการมาจากความผิดพลาดของหน่วยงานกทพ.เอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ขาดความรอบคอบจนก่อให้เกิดค่าโง่ตามมา
มันใช่ความรับผิดชอบที่ประชาชนคนไทยจะต้องไปแบกรับแทนกระนั้นหรือ?
ที่สำคัญเหตุใดบอร์ดกทพ.ถึงได้ “มั่วนิ่ม”ไปเอาค่าโง่ที่ไม่รู้ใครต่อใครสร้างขึ้น บางรายการยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาหรือขั้นฟ้องร้องที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่กลับนำมาเป็นข้ออ้างประเคนผลประโยชน์ไปให้บริษัทเอกชนไปก่อนดื้อๆ เช่นนี้ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบไม่คิดอ่านจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ควานหา “ไอ้โม่ง”ที่สมควรจะลากคอมารับผิดชอบความเสียหายเหล่านี้บ้างหรือ?
หากประชาชนคนไทยจะต้องไปแบกรับภาระค่าโง่เหล่านี้ ก็สู้ยุบทิ้งหน่วยงานกทพ.ไปเสียเลยจะดีกว่า เพราะขืนยังปล่อยให้ก่อสร้างหรือขยายทางด่วนในลักษณะที่ต้องดึงบริษัทเอกชนเข้ามาร่วยมลงทุน หรือรับสัมปทานในลักษณะเช่นนี้ต่อไป
ก็ไม่รู้ประชาชนคนไทยจะต้องเจอกับ “ค่าโง่” ที่ซุกเอาไว้ใต้พรมไม่รู้อีกเท่าไหร่?!!!
:เนตรทิพย์