ขสมก.ยัน 1 ก.พ.รถเมล์ 2,075 คันเปลี่ยนมาใช้ B20 ครบทุกคัน

0
251

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล B20 ในรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,075 คัน  เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และส่งเสริมการลด ปริมาณ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เนื่องจากผลผลิตปาล์มล้นตลาด ทำให้มีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม จึงร่วมกันนำร่องโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ในสัดส่วน 20%) ในภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันดีเซล B20

โดย ขสมก.ได้ทดลองใช้น้ำมันดังกล่าวกับรถโดยสารธรรมดายี่ห้อฮีโน่ มิตซูบิชิ และอีซูซุ จำนวน 17 คัน เมื่อช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2561 พบว่าเครื่องยนต์สามารถทำงานได้ตามปกติ และมีอัตราการสิ้นเปลืองใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ขสมก.จึงขยายผลการใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,075 คัน แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้                   

ระยะที่ 1 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา ยี่ห้อฮีโน่ และมิตซูบิชิ จำนวน 815 คัน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป  ระยะที่ 2 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา ยี่ห้อมิตซูบิชิ และอีซูซุ รถโดยสารปรับอากาศครีม – น้ำเงิน ยี่ห้ออีซูซุ และฮีโน่  รถโดยสารปรับอากาศยูโรทู ยี่ห้ออีซูซุ แดวู และเบนซ์ จำนวน 1,260 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

เมื่อ ขสมก.เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารทั้ง 2 ระยะ จำนวน 2,075 คัน จะมีปริมาณการใช้น้ำมัน เดือนละ 5.5 ล้านลิตร หรือปีละ 66 ล้านลิตร ซึ่งสามารถนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันดีเซล B20 ได้ปีละประมาณ 8.58 ล้านลิตร เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้อีกทางหนึ่ง

จากการใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสาร ขสมก.ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่าน้ำมันดังกล่าว สามารถนำมาใช้งานร่วมกับรถโดยสาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบกับระบบเครื่องยนต์   อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารในระยะแรก จะต้องมีการล้างน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบทางเดินน้ำมัน และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง รวมทั้งมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันดีเซล ไส้กรองน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายคันละประมาณ 25,000 บาท

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งฝุ่นละอองดังกล่าว  มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และการก่อสร้างโครงการต่างๆ  การที่ ขสมก.เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสาร จะช่วยลดมลพิษได้ 4% และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 15%  นอกจากนี้ ขสมก.ได้กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ดังนี้

        1. ตรวจดูแลรถโดยสารก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน โดยห้ามมิให้รถควันดำออกวิ่งให้บริการโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะส่งเข้าซ่อมบำรุงโดยทันที

        2. ขสมก.มีการตรวจวัดควันดำ และตรวจวัดความดังของเสียงเครื่องยนต์ อย่างต่อเนื่อง เดือนละ 2 ครั้ง

        3. กำชับให้พนักงานขับรถโดยสาร ออกรถด้วยเกียร์ 1 ทุกครั้ง