การรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิเหนือพื้นดิน ปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาสู่ทางราง และทางน้ำตามนโยบายกระทรวงคมนาคม นำไปสู่การประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศในระยะยาว
วันนี้ (24 ธันวาคม 2561) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 14 อาคารสำนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นาวาอากาศเอก ธนากร พีระพันธุ์ กรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โดยมีร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนจากทั้ง 2 หน่วยงานในการลงนามสัญญาฯ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ที่ผ่านมาทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่การขนส่งทางรถไฟ จนต้องมีการประกาศงดใช้เส้นทางดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาสู่ภาคการขนส่งทางราง และทางน้ำ อันจะส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเทศตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ จึงได้ร่วมลงนามสัญญาดังกล่าว เพื่อเร่งเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าได้เป็นปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภายในรายละเอียดสัญญา การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตกลงให้การรถไฟฯ มีสิทธิเหนือพื้นดิน ณ ท่าเรือกรุงเทพ จำนวนเนื้อที่ 5,912.29 ตารางวา บริเวณทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยการรถไฟฯ จะเข้าไปทำการรื้อถอนทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่มีอยู่เดิม และทำการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม รวมถึงทำการก่อสร้างระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 6,410.80 เมตร (ทางสายหลักตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 6+410.80 ทางหลีกและทางแยกต่าง ๆ ความยาวรวม 340 เมตร) นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้รับการยกเว้นเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ที่ดินหรือค่าใช้จ่ายจากการท่าเรือฯ มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญาอีกด้วย และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังตกลงให้การรถไฟฯ ใช้สิทธิเหนือพื้นดินต่อไปอีกคราวละ 5 ปี โดยการรถไฟฯ ต้องแสดงเจตนาขอใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่อายุสัญญาจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านทางจากผู้ที่มาใช้บริการขนส่งทางรถไฟได้เป็นปกติ
“การรถไฟฯ คาดหวังว่าการเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ขนส่งให้กับประเทศ และลดปัญหาการจราจรแออัดบนท้องถนน รวมถึงเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำมันดิบผ่านทางระบบขนส่งทางรางยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการขนส่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว