ขบ.เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงบริการรถโดยสารสาธารณะ เน้นเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางเพื่อคนทุกกลุ่ม

0
108

กรมการขนส่งทางบก สนองนโยบายกระทรวงคมนาคม เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงการให้บริการด้วยรถโดยสารสาธารณะ เน้นเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางเพื่อคนทุกกลุ่ม สะดวกปลอดภัย รองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าในอนาคต ตอบโจทย์การเดินทางจากรอบนอกเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพชั้นใน 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เพื่อการรองรับการเดินทางของประชาชน เช่น การกำหนดเส้นทางเดินรถสาธารณะใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งชุมชน ลดการทับซ้อนเส้นทาง เพิ่มบทบาทหน้าที่เป็น Feeder รองรับการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และที่จะเกิดในอนาคตตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการนำรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ และรถโดยสารขนาดเล็กมาให้บริการเพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้พลังงานทางเลือกช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษโดยประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าด้วยระบบ Application GPS ที่มีระบบจัดการเดินรถที่ตรงเวลา พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบตำแหน่งพิกัดพฤติกรรมการขับรถได้แบบ Real Time อีกทั้งยังรองรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในอนาคตเตรียมรองรับระบบตั๋วร่วมทุกรูปแบบการขนส่งรวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้มีการบูรณาการและพัฒนาระบบการขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อการเชื่อมต่อกับชุมชนอย่างทั่วถึง อาทิ ระบบการขนส่งทางราง ที่ผ่านมาได้นำร่องเปิดเส้นทางใหม่ เดินทางด้วยรถโดยสารมาตรฐานใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี(ทางด่วน) เชื่อมต่อการเดินทางจากจุดจอดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ มายังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์สถานีหัวหมาก และเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) เชื่อมต่อการเดินทางจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จังหวัดนครปฐม มายังสถานีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า MRT ซึ่งสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจากเขตปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร เข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพมหานครชั้นในสู่ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น

และการยกระดับรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยเป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาดมากกว่า 30 ที่นั่ง แบบมีที่สำหรับให้ผู้โดยสารยืน ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) เน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เนื่องจากรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ เป็นรถโดยสารชานต่ำ (Low Floor) มีการออกแบบในลักษณะ Universal Design ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ ทางลาดสำหรับเข็นรถวีลแชร์ ปุ่มกดที่เอื้อต่อผู้พิการ และเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อความปลอดภัย ติดตามพฤติกรรมคนขับรถผ่านระบบ GPS Tracking จอแสดงความเร็ว Speed Monitor ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV โดยในอนาคตเตรียมพัฒนารูปแบบการประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงประกาศ พร้อมแผนที่การเดินทางระบบดิจิทัลแสดงชื่อจุดจอดเมื่อถึงแต่ละจุดจอด

ปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ มาวิ่งให้บริการแล้วเพื่อการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างรอบนอกเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพชั้นใน ทั้งนี้จะทยอยนำรถมาวิ่งให้บริการประชาชนให้ครอบคลุมในทุกเส้นทาง เชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง (Connectivity) ทั้งทางล้อ ราง เรือ อากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนการพัฒนาเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างตัวเมืองและสนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, หาดใหญ่, อู่ตะเภา และพัฒนาการให้บริการรถโดยสารในสนามบินในจังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย,ภูเก็ต, ตราด, ตาก, สุโขทัย, สุราษฎร์ธานี,กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ระนอง ประจวบคีรีขันธ์,พิษณุโลก, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, แพร่, นครพนม, เลย, สกลนคร, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, และจังหวัดนครราชสีมา สำหรับสนามบินสมุย, อุดรธานี, อุบลราชธานี และสนามบินจังหวัดร้อยเอ็ดจะเปิดให้บริการเดินรถในเร็วๆนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปแบบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อการเชื่อมสนามบินกับชุมชนและสถานีขนส่งของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการนำรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่มาให้บริการแล้ว กรมการขนส่งทางบกยังมีมาตรการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร ซึ่งได้เริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ปัจจุบันมีรถตู้เปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็กแล้ว จำนวน 112 คัน ในจำนวนนี้เป็นเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ สาย 81 กรุงเทพฯ – กาญจนบุรี , สาย 9908 กรุงเทพฯ – ตราด(ง), สาย 35 กรุงเทพฯ – มาบตาพุด – ระยอง,สาย 9905 กรุงเทพฯ – เมืองพัทยา(ข) , สาย 94 กรุงเทพฯ – กำแพงเพชร สาย 903 กรุงเทพฯ – อุทัยธานี , สาย 76 กรุงเทพฯ – ราชบุรี และสาย 985 กรุงเทพฯ – ปราณบุรี (ข) ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้มีการเปลี่ยนรถตู้โดยสารคันใหม่ทดแทนคันเดิมที่ครบอายุการใช้งาน จำนวน 275 คัน โดยกรมการขนส่งทางบกได้ช่วยเหลือเจ้าของรถในกรณีที่มีความประสงค์จะทำการเปลี่ยนรถทดแทนรถคันเดิมที่หมดอายุให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ภายใต้โครงการ“เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร”จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง ณ อาคาร 3 ชั้น 1 กรมการขนส่งทางบก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาแนะนำกรณีรถตู้โดยสารประจำทางจะครบกำหนดอายุ 10 ปี และขั้นตอนการจดทะเบียนรถแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลระบบการขนส่งทางถนนที่เกิดโครงข่ายการเดินทางที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง ตอบโจทย์การเดินทางของผู้โดยสารได้อย่างลงตัว สะดวกสบาย และมีมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้การควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากกรมการขนส่งทางบก