ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2564 ที่รัฐบาลคสช.ได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญเพื่อวางรากฐานการลงทุนพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง และเชื่อมโยง4 การเดินทางทั้งระบบขนส่งทางราง ถนน น้ำ และอากาศมัดรวมไว้ด้วยกัน ผสมโรงกับแนวนโนบาย“One Transport for All 2018 : On the Move” ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย (2558 – 2565)
โดยกระทรวงคมนาคมได้โชว์หราผลงานชิ้นโบว์แดงในครึ่งทางแรก ระหว่างปี 2558 – ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของแต่ละโครงการใน 4 โหมดการเดินทางดังกล่าว พร้อมกับโชว์แผนดำเนินงานในอนาคต โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ จนถึงปี 2565 ที่จะพลิกโฉมการคมนาคมของประเทศไทย
ไฮไลต์คือ “สถานีกลางบางซื่อ”ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในเวลานี้และจะเปิดบริการในปี 2563 ที่ว่ากันว่าจะเป็นพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของอาเซียนแซงหน้าสถานี KL Sentral ของมาเลเซีย เหตุมีพื้นที่ใช้สอย 3 แสนตารางเมตร พร้อมรองรับรูปแบบระบบคมนาคมได้อย่างหลากหลายและเชื่อมต่อเป็น“ศูนย์กลางระบบราง”อย่างสมบูรณ์แบบทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง
จากการปูพรมพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางรางสุดลิ่มทิ่มประตูของภาครัฐนั้น เป็นกระจกเงาสะท้อนถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเป็นแรงดึงดูดความสนใจให้ประชาชนหันกลับมาใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก เพื่อเลี่ยงปัญหารถติด ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และช่วยลดการผลาญพลังงานเชื้อเพลิงที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นมหานครของประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก
พัฒนาอย่างไร?ให้ระบบราง-เมืองเกิดความสมดุล
“เราทราบกันดีว่าการพัฒนาเมืองนับตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นมา เมืองเราถูกพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ปัญหาที่ตามมาก็คือเมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทางเช่นกัน ไปสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญก็คือโหมดการเดินทางด้วยรถยนต์ที่เป็นมหาอำนาจการครองพื้นที่บนถนนหนทางอย่างที่พวกเราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ เราจึงตั้งคำถามว่าเราจะพัฒนาระบบขนส่งทางรางซึ่งเป็นโหมดการเดินทางที่ตอบโจทย์สังคมมากที่สุดกับกายภาพคือเมืองอย่างไรให้สอดคล้องกัน”ปรารภแรกเกี่ยวกับหัวข้อการพูดคุย “รางสร้างเมือง เมืองสร้างราง ฉลาดยั่งยืน”ได้อย่างไร?จากสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการรถไฟรางเบาจังหวัดขอนแก่น หรือที่จักกันดีในนาม CEO บมจ.ช.ทวี ดอลลาเซียน ผู้คว้าโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันไปครอง และกล่าวต่ออีกว่าเมืองเราขยายมากขึ้น ผู้คนที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ระบบขนส่งมวลชนต้องโจทย์สังคมเมืองที่แท้จริง ต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันกลับมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยราคาที่ลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ใช้บริการทุกกลุ่มเข้าถึงได้
“เราจะรอต่อไปไม่ได้อีกแล้วได้เวลาแล้วที่รัฐต้องให้ความสำคัญอันดับแรกสนับสนุนเอกชนให้ลงทุนระบบการขนส่งมวลชนและการขนส่งทางรางในการเชื่อมต่อการการเตินทางและการขนส่งสินค้า พร้อมการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองและเมืองรอง ระบบการวางผังต้องลดความสำคัญการสัญจรและการขนส่งสินค้าทางถนน”
ยุทธศาสตร์เมือง-รูปแบบการเปลี่ยนแปลงเมืองต้องมีมาตรฐาน
นอกจากนี้ รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่นระบุต่อไปว่าน่ายินดีที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564) สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปี (พ.ศ.2560-2579) ได้กำหนดให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบขนส่งมวลชนในเมืองและระบบการขนส่งทางรางในหัวเมืองใหญ่ นับได้ว่าไทยเราได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบการวางแผนพัฒนาเมืองที่เป็นสากลเฉกเช่นในหลายๆเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว
“แต่ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า แผนที่ว่าก็ยังไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เมืองและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเมืองไปสู่ความมีมาตรฐาน เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบทางกายภาพเพื่อลดการกระจัดกระจายของเมือง การสร้างศูนย์เมืองหรือศูนย์เศรษฐกิจที่มีความเด่นชัด แม้มีการระบุให้ลงทุนระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ แต่ยีงขาดกลไลและวิธีการขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง”
ที่สำคัญ ยังขาดการเชื่อมประสานระหว่างการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังขาดเงื่อนไขสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบกองทุนและสิทธิประโยชน์เฉพาะด้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงุทนอย่างต่อเนื่อง และเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ไม่ใช่แค่ระบบราง แต่มันคือเครื่องมือเอื้อให้ทุกคนอยู่รอด
เมื่อถามถึงความสำคัญของโหมดการเดินทางระบบรางนั้น สุรเดช สะท้อนมุมมองว่าต้องย้อนถามเกริ่นก่อนว่าทำไมต้องถามหารถไฟฟ้ารางเบา ทำไมกทม.ต้องการความสมบูรณ์แบบระบบราง หรือแม่กระทั่งหัวเมืองขนาดใหญ่ เช่น ขอนแก่น เป็นต้น ถามหาและอยากมีกันจัง ผมในฐานะกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการรถไฟรางเบาจังหวัดขอนแก่น ขอตอบแทนคนขอนแก่นหรือคนเมืองทั่วก็ได้ว่าขอนแก่นไม่ต้องการอยากมีราง แต่ขอนแก่นอยากมีเครื่องมือให้อยู่รอด ความสามารถทางการแข่งทุกอย่างอยู่ที่นี่ทั้งหมด เพราะมันไม่ใช่แค่ระบบราง แต่มันคือเครื่องมือที่จะทำให้เราทุกคนได้อยู่รอด
“อย่าลืมนะครับว่าเมืองมีพื้นที่พอสำหรับคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับรถยนต์ ทำอย่างไรเราจะดำเนินชีวิตอย่างสมดุลได้ท ทุกอย่างมีการออกแบบอย่างเป็นระบบ การที่เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ แทรม 10 เส้นทางในกรุงเทพฯและสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างรูปธรรม สอดคล้องกับรถไฟฟ้าหลากสีครบทุกสาย รถเมล์มีการปฏิรูปทั้งระบบอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่ากรุงเทพฯจะเป็นมหานครที่สร้างสุขให้กับคนกรุงและผู้มาเยือนสมกับเป็นเมืองสวรรค์อย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ ยังจะเป็นเมืองต้นแบบและเป็นบรรทัดฐานการพัฒนาออกไปสู่หัวเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และเวลานี้ก็เกิดการวางแผนลงทุนบ้างในแล้วในหลายๆจังหวัดใหญ่ และจากนั้นก็จะขยายไปตามเมืองรองต่อไปในอนาคต
“เมืองที่ไม่ได้ออกแบบเป็นเมืองที่ขาดความสมบูรณ์ ระบบกายภาพเมืองก็คล้ายกับโครงกสร้างร่างกายมนุษย์ ที่ต่างก็มีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง การออกแบบเมืองเป็นการวางผังให้ระบบกายภาพได้รับการจัดวางให้ถูกต้องเหมาะสมกับบทบาท เมื่อทุกอย่างออกแบบได้ถูกต้อง คุณภาพทางเศรษฐกิจและชีวิตคนเราถึงจะเดินต่อไปอย่างสมบูรณ์”รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น สรุปปิดท้าย