รถไฟเสียรู้ กทม.เจอหักดิบประเคน “ตลาดนัดจตุจักร” กลับคืนให้กทม. บริหาร ดีเดย์ 1 ธันวาคมนี้ อ้างนิ่มช่วยผู้ค้ารายย่อย ส่วนรถไฟได้แต่กลืนเลือดค่าเช่าลดลงปีละ 44 ล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าบริหารตลาดนัดจตุจักรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอัตราค่าเช่าแผงของผู้ค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร โดยการรถไฟฯ และ กทม. จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการโอนสิทธิ์บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรให้เร็วที่สุด
ในเบื้องต้น กทม.จะจัดเก็บค่าเช่าแผงจากผู้ค้ารายย่อยในอัตรา 1,800 บาทต่อเดือนต่ำกว่าค่าเช่า ร.ฟ.ท. ที่จัดเก็บในอัตรา 3,157 บาทต่อแผงต่อเดือน ขณะเดียวกัน กทม.จะต้องจ่ายค่าเช่าให้การร.ฟ.ท. ในอัตรา 169 ล้านบาทต่อปี พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขอีก 3-4 ข้อ “คิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย ก็เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดและเขียนสัญญาให้รัดกุม โดยจะพยายามลงนาม MOU กับ กทม. ให้ได้ก่อนภายในเดือนพ.ย. เพื่อให้สิทธิ์ กทม. ไปบริหารตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะลงนามสัญญากับ กทม. อีกครั้ง โดยสัญญาจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโอนตลาดนัดจตุจักรกลับคืนไปให้ กทม.บริหาร หลังจากที่การรถไฟฯรับโอนตลาดดังกล่าวมาบริหารนับแต่ปี 2556 เป็นต้นมาน้ัน เป็นไปตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ 12 ก.ย.61 ซึ่งเห็นชอบให้การรถไฟฯโอนตลาดนัดจตุจักรกลับคืนมาให้ กทม.บริหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ค้ารายย่อยร้องเรียนเรื่องค่าเช่าแผง พร้อมเห็นชอบมให้ กทม.ลดอัตราค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรเหลือ 1,800 บาทต่อแผงต่อเดือนจากที่ร.ฟ.ท. เก็บอยู่ในอัตรา 3,157 บาทต่อแผงต่อเดือน
ทั้งนี้ ตามสัญญาบริหารตลาดนัดจตุจักรใหม่นั้น กทม.จะเช่าพื้นที่ตลาดจตุจักรขนาด 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวาจากรถไฟเป็นระยะเวลา 10 ปีไไปจนถึงปี 2571 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธินแปลง D และให้มีการทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุกๆ 3 ปี อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่สามารถทำสัญญากับผู้เช่าแผงที่มีภาระหนี้สินติดค้างกับรถไฟได้จนกว่าผู้เช่าแผงรายดังกล่าวจะชำระหนี้ทั้งหมด
ที่ผ่านมาการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรของ กทม.ก่อนมอบคืนให้รถไฟในช่วงปี 2547-54 นั้นพบว่า กทม. มีรายได้จากการบริหารสูงสุด 175 ล้านบาท และต่ำสุด 88 ล้านบาท โดย กทม. จ่ายค่าเช่าตลาดนัดจตุจักรให้รถไฟ ต่ำสุดที่ 1.6 ล้านบาทต่อปีและสูงสุดที่ 24 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบมูลค่าเชิงพาณิชย์ที่เกิดในพื้นที่ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าการรถไฟจึงไม่ต่อสัญญาเช่าให้ กทม.พร้อมกับขอเข้ามาบริหารเอง ในช่วงปี 2555-60 ซึ่งปรากฏว่าองค์กรมีกำไรและรายได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด โดยในปี 55 รถไฟมีรายได้ 238 ล้านบาทและกำไร 85 ล้านบาท, ปี 56 มีรายได้ 425 ล้านบาทและกำไร 226 ล้านบาท, ปี 57 มีรายได้ 434 ล้านบาทและกำไร 243 ล้านบาท, ปี 58 มีรายได้ 391 ล้านบาทและกำไร 229 ล้านบาท, ปี 59 มีรายได้ 381 ล้านบาทและกำไร 186 ล้านบาท, ปี 60 รายได้ 375 ล้านบาทและกำไร 177 ล้านบาท
สำหรับปัจจุบันตลาดนัดจตุจักร มีแผงค้าทั้งหมด 9,495 แผง โดยรถไฟเก็บค่าโดยสารจากผู้ค้าประมาณ 94% ของจำนวนแผงทั้งหมด ในอัตรา 3,157 บาทต่อแผง และเมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ ส่งผลให้รถไฟ มีรายได้จากตลาดนัดจตุจักรเฉลี่ยปีละ 389.31 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 213.29 ล้านบาท