กทพ.ลงนามสัญญาจ้าง ‘ด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ’เปิดบริการปี 65

0
263

กทพ. ลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก กับกลุ่มบริษัท เอพซิลอน-เอเชี่ยน-เอ็ม เอ เอ-โชติจินดา รวมถึงพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการดังกล่าวด้วย

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระหว่าง กทพ. กับกลุ่มบริษัท เอพซิลอน จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด รวมทั้งพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3–ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

โดยโครงการดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 1 และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกทพ. ได้ระดมเงินผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFFIF เพื่อนำมาเป็นเงินในการก่อสร้าง โดยการระดมทุนประสบความสำเร็จสามารถระดมทุนเข้ามาได้ถึง 44,811 ล้านบาท โดยเป็นของภาคประชาชน 50% หรือรายย่อยกว่า 5 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการนี้

นอกจากนี้ กทพ.มีแผนจะนำเงินจาก TFFIF ไปใช้ในโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงิน 14,382 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบที่ต้องประสานกับแบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ดังนั้น กทพ.จะเร่งรัดในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างได้ก่อน คือ ทางเชื่อมระดับดินบริเวณแยกฉลองรัฐ จุดตัดถนนประเสริฐมนูกิจ และประดิษฐมนูธรรม เพื่อระบายจราจรจากเอกมัย รามอินทรา เข้าเกษตรนวมินทร์ ซึ่ง กทพ.ฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีตลาดนัดหัวมุม หากศาลมีคำตัดสินออกมาอย่างไรก็จะเร่งดำเนินการต่อไป รวมถึงโครงการทางเชื่อมจากท่าเรือคลองเตยกับทางด่วนบูรพาวิถี หรือทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี เพื่อประโยชน์สูงสุดในการนำเงินจากกองทุนรวม TFFIF มาดำเนินการ และแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กทม.

อย่างไรก็ตาม หลังจากระดมเงินจากกองทุนรวม TFFIF มาแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาทนั้น กทพ.จะมีเงินค้างในระบบ 2-3 ปี เนื่องจากค่าก่อสร้างจะทยอยจ่าย ดังนั้น จะได้หารือด้านนโยบายกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางในการบริหารเงินคงคลังจาก TFFIF เพื่อหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง และความเสี่ยงต่ำ ซึ่งยอมรับว่ายังมีส่วนต่างภาระทางการเงินอยู่ เนื่องจากผลตอบแทน TFFIF ที่ 4.75% ส่วนเงินฝากดอกเบี้ย 1%

ด้าน นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 (ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร จนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 มีทางขึ้น-ลง จำนวน 7 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF เพื่อนำมาเป็นเงินในการก่อสร้าง และต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการทางพิเศษสายดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ประมูลก่อสร้าง โดยมูลค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานโยธา 4 สัญญา (สัญญาที่1 ระยะทาง 6.4 กม. วงเงิน 7,079 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม.วงเงิน 7,201 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 6,914 ล้านบาท สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา. ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 7,942 ล้านบาท) สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 874 ล้านบาท

โดยในเดือนพ.ย.นี้ จะออกประกาศทีโออาร์รับฟังความคิดเห็น และขายเอกสารประมูลในเดือนธันวาคม 2561 ได้ตัวผู้รับจ้างในเดือนมีนาคม 2562 และเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน (3 ปี 3 เดือน) เปิดให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2565