“พีพีพี”…จากรถไฟฟ้าถึงสัมปทานมอเตอร์เวย์(อีกที)

0
297
เมื่อก่อนเห็นใครต่อใครออกมาโจมตี และตราหน้า “นักการเมือง” กันนักหนาว่าเข้ามาก็เพื่อ “สวาปาม” แบ่งเค้ก แบงผลประโยชน์กัน จนกลายเป็นคำแสลงหูที่ใครๆ ก็ไม่อยากได้ยิน 
ทุกฝ่ายจึงคาดหวังเอาไว้สูงยิ่ง รัฐบาลปฏิรูปคสช.ที่ป่าวประกาศภารกิจจะปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง จะสามารถขจัดรากเหง้าของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นชนิด “ขุดรากถอนโคน” และคงรื้อระบบ “แบ่งเค้ก-ประเคนสัมปทาน” ให้เป็นรูปธรรมกันได้ก่อนจะก้าวลงจากอำนาจ!
เอาเข้าจริง! วันนี้นอกจากจะไม่ได้เห็นแล้ว ตัวนายกฯยังประกาศสนใจจะลงเล่นการเมืองเอาด้วยเสียอีก ในขณะที่เครือข่ายลิ่วล้อบริวารต่างก็เดินหมากเกมเพื่อหวังจะให้นายกฯได้หวนกลับมาสืบทอดอำนาจสานฝันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้ลงหลักปักฐานกันเอาไว้ 
ขณะที่พัฒนาการของการประเคนผลประโยชน์ของรัฐออกไปให้เอกชนยังขยับไปอีกขั้น ผ่านนโยบายของรัฐบาลเสียเอง โดยเฉพาะการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ “Public Private Partnership : PPP” ที่หากถอดรหัสออกมา มันก็คือการถลุงภาษีประชาชนไปลงทุนแล้วประเคนสัมปทานให้เอกชน“สวาปาม”กันดีๆนี่เอง!
โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่รัฐบาลตีปี๊บจะเป็นมาตรการขับเคลื่อน กระตุ้นเศรษฐกิจคร้ังใหญ่ แต่เมื่อรัฐถลุงภาษีหรือกู้เงินเป็นหมื่นล้าน-แสนล้าน ลงทุนไปแล้ว 70-80 % แทนจะให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ถูกหรือใช้ฟรีกันไปก็กลับประเคนไปให้เอกชน “ชุบมือเปิบ” ผ่านนโยบาย“พีพีพี” ที่ว่า ทั้งที่จะว่าไปมีโมเดลให้เลือกใช้ได้ตั้งมากมาย ไม่ว่าจะบริหารจัดการเอง จ้างบริหาร หรือ Outsource 
แต่หน่วยงานรัฐกลับเลือกที่จะประเคนไปให้เอกชน “ชุบมือเปิบ”เสียเป็นส่วนใหญ่!  
ไล่มาตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ 23 กม.วงเงินลงทุนกว่า 68,000 ล้านบาทที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.)ให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BEM รับสัมปทานจัดเก็บและซ่อมบำรุงไป 30 ปี หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) วงเงิน 83,123 ล้านบาทที่รฟม.กู้เงินมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ก็ประเคนให้เอกชนรายเดิมรับสัมปทานเดินรถ 30 ปีไปอีก
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ของ กทม.ก็เช่นกัน ในช่วงก่อสร้างก็ถลุงงบประมาณภาครัฐกู้เงินไม่รู้กี่หมื่นล้านก่อสร้างก่อนประเคนไปให้บริษัทเอกชนรายเดิมรับสัมปทานบริหารจัดเก็บและซ่อมบำรุงสบายมือไป
ล่าสุดกรมทางหลวงก็จ่อเจริญรอยตามโดยเตรียมประมูลสัมปทานจัดเก็บและบำรุงทางโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายคือ มอเตอร์เวย์บางประอิน-โคราช ระยะทาง 250 กม.วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี 106 กม.วงเงินลงทุน 62,000 ล้านบาทที่ล่าสุดวงเงินเวนคืนที่ดินทะลักข้ึนมาร่วม 20,000 ล้าน ก่อนเตรียมประเคนให้เอกชนรับสัมปทานบริหารจัดเก็บค่าผ่านทาง และซ่อมบำรุง (O&M)ไป 30 ปี วงเงิน 61,000 ล้านบาท 
เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการถลุงเม็ดเงินภาษีประชาชนที่หน่วยงานนำไปลงทุนก่อสร้างโครงการจนเกือบจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อถึงการใช้งานแล้วก็กลับประเคนโครงการเหล่านี้ออกไปให้เอกชนชุบมือเปิบ ทำการบริหารจัดการหรือจัดเก็บค่าผ่านทางแทนซะงั้น โดยนัยว่าเบ็ดเสร็จ ณ เวลานี้ มีโครงการร่วมลงทุนที่คณะกรรมการพีพีพี ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเป็นประธาน บรรจุเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พีพีพีปี 2558-2562 ไปแล้ว 66 โครงการวงเงินลงทุน 1.662 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้าน 12 โครงการมูลค่ารวม 720,000 ล้านบาท 
ย่ิงในส่วนโครงการก่อสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีีอีซีด้วยแล้ว มีโครงการในลักษณะนี้ที่รัฐบาลตั้งแท่นจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนผ่านนโยบาย“พีพีพี”เกือบทุกโครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน”เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทที่นอกจากรัฐจะจ่ายค่าก่อสร้างภายในวงเงินไม่เกิน 110,000 ล้านบาทให้แล้ว ยังให้สิทธิ์เอกชนพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์มูลค่านับแสนล้านบาทแถมไปอีก
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพิ่งเห็นชอบในหลักการโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพิ่มอีก 4 โครงการประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าเงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนในส่วนของภาครัฐจำนวน 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ)อู่ตะเภา วงเงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท ในส่วนของภาครัฐ 6,333 ล้านบาท และเอกชน 4,255 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมท่าเรือเอฟ และท่าเรืออี จำนวน 114,047 ล้านบาทในเบื้องต้นจะดำเนินการในส่วนของท่าเรือเอฟก่อน วงเงินลงทุนรวม 84,361 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนภาครัฐ 53,490 ล้านบาท ภาคเอกชน 30,871 ล้านบาท
ทุกโครงการที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ถลุงงบประมาณจากภาครัฐ/ภาษีหรือเงินกู้ของภาครัฐนำร่องลงไปกว่าครึ่งหรือบางโครงการนั้น 70-80% ด้วยซ้ำ ส่วนเอกชนนั้นส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในระบบบริหารจัดการและบำรุงรักษาในระยะยาวเป็นหลัก
นี่คือการ“ปฏิรูป” รื้อระบบแบ่งเค้กแจกสัมปทานที่ทุกฝ่ายเพรียกหากันแน่หรือ!!! 
ขอโทษเถอะ! โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่รัฐถลุงภาษีหรืองบก่อสร้างจนแล้วเสร็จกับอีแค่จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้ามาวิ่งและจัดหาระบบบริการจัดเก็บเงินและซ่อมบำรุงซึ่งจะว่าจ้างหรือ Outsorce ก็มีรูปแบบให้เลือกตั้งมากมาย หรือโครงการมอเตอร์เวย์ที่รัฐถลุงภาษีก่อสร้างไปจวนจะแล้วเสร็จ กะอีแค่ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เก็บเงิน จัดกำลังคน/เครื่องมือไม่กี่ร้อยล้านเพื่อจัดเก็บค่าผ่านทาง หรือซ่อมบำรุงทางที่เป็นงานหลักของกรมทางหลวงอยู่แล้ว   
สิ่งเหล่านี้มันต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญอะไรจากภาคเอกชนเขาหรือถึงต้องประเคนสัมปทานกันไปถึง 20-30 ปี ล่ันดานหนทางที่ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้ใช้บริการราคาถูก ก็หากแม้นงานกล้วยๆแค่นี้ยังไม่มีปัญญาดำเนินการเอง ทำไมไม่ยุบกรมหรือหน่วยงานไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด 
เห็นแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึงรัฐบาล ”โปร่งใส” ของ “นายอานันท์ ปันยารชุน”ที่ล้มโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินในอดีต ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเพียงเพราะบริษัทเอกชนตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้ซอฟท์โลนจากเอ็กซิมแบงก์ของแคนาดาเท่านั้น  
ขณะที่สัมปทานพีพีพีในปัจจุบัน ไม่เพียงจะถลุงภาษีลงไปก่อสร้างกัน 70-80% ยังประเคนโครงการดังกล่าวไปให้เอกชนรับสัมปทานกัน 30-50 ปี บางโครงการยังออกกฎหมายรองรับการกระทำข้องเจ้าหน้าที่ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยไม่ให้มีการเอาผิดย้อนหลัง   
โมเดลเหล่านี้มันต่างอะไรกับ“แบ่งเค้ก-ประเคนผลประโยชน์เอกชน”ที่เคยตราหน้านักการเมือง!!!