เหลือบไปเห็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(ปี 2561-2580) ที่รัฐบาลคสช.ผลักดันออกมามัดตราสังเป็นโซ่ตรวนให้พรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตจะต้องปฏิบัติตาม หลังราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศยุทธสาสตร์ดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เห็นจะเป็นด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่มีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้สูงภาย ใน 20 ปี จึงต้องมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1.ต่อยอดอดีต โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ในด้านอื่น ๆ นํามาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่
2.ปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต 3.สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคต บนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจึงกําหนดแนวทางการพัฒนา ที่ให้ความสําคัญกับการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งใน ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการและการท่องเที่ยว โดยให้ประเทศสามารถยกระดับการผลิต
“เนตรทิพย์” อารัมภบทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพียงคร่าวๆ ข้างต้น เพื่อจะให้ทุกฝ่ายลองตรวจสอบประเด็น “ดราม่า” กรณี ที่การออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร”เทอร์มินัล2” หลังที่2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.เพิ่งอนุมัติให้ฝ่ายบริหารเดินหน้าลงนามในสัญญากับกลุ่ม “ ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก” หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ชนะการประกวดแบบต่อไปได้ หลังจากที่ก่อนหน้าถูกกลุ่ม บริษัทเอสเอ กรุ๊ป” ที่ถูกจับ “แพ้ฟาวล์” ยื่นฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลปกครองได้ยกคำร้องไปในที่สุด ทำให้ทอท.ประกาศเดินหน้าโครงการดังกล่าวในทันที
แต่กระนั้นทอท.ยังคงต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา ขยายเทอร์มินัล 2 นอกแผนแม่บท Master Planเพราะเป็นการผุดเทอร์มินัลด้านทิศตะวันออกที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนแม่บทเดิมที่ต้องไปดำเนินการทางด้านทิศใต้ เชื่อมต่อถนนบางนา-ตราดเป็นหลัก ส่งผลกระทบต่อระบบบริหารจัดกหาร และระบบเชื่อมต่ออื่น ๆ ที่จะต้องถูกรื้อยกกระบิ และถึงขั้นถูกหน่วยงานอะไรต่อมิอะไร “ล้วงลูก”เข้ามาตรวจสอบกันยกใหญ่
ล่าสุดสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับองค์กรตรวจสอบความโปร่งใส ได้เชิญองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาต่างๆ รวม 12 แห่งเข้าร่วมเสวนา และมมติร่วมกันเรียกร้องให้ ทอท.ทบทวนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ดังกล่าวด้วยเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บท(Master Plan)ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง อยู่แล้ว รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของ ทอท.ในการทบทวนมาสเตอร์แพลนเดิม เพราะการออกแบบสนามบินสุวงรรณภูมินั้นควรมีความหนาแน่นในการรองรับผู้โดยสาร 100-120 ล้านคนต่อปี ไม่ควรขยายไปถึง 150 ล้านคนต่อไป เพราะมีผลต่อคุณภาพ บริการที่ลดลง
พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้ ทอท.กลับไปดำเนินการขยายอาคารในฝั่งตะวันตก และตะวันออกตามมาสเตอร์แพลนเดิม ที่ใช้งบลงทุนต่ำกว่าในระดับเพียง 10,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น จากนั้นจึงเดินตามมาสเตอร์แพลนในการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางทิศใต้ ดึงผู้โดยสารในประเทศไปอยู่ในพื้นท่ีส่วนขยายใหม่ที่จะสร้างขึ้น ไม่ใช่ไปก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ขึ้นมา แต่หาก ทอท.จะยังคงดึงดันเดินหน้าโครงการต่อไป ก็ควรให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) เข้ามาตรวจสอบให้การรับรองมาสเตอร์แพลนฉบับล่าสุดของ ทอท.เสียก่อน ทุกฝ่ายพร้อมจะยอมรับ
ฟากฝั่งฝ่ายบริหาร ทอท.ก็ออกมาโต้แย้ง แผนแม่บทที่ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงเป็นแผนแม่บทเก่าที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ปี 2535 หรือเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษเข้าไปแล้ว ขณะที่เวลานี้ขนาดเครื่องบินและลักษณะทางการบินก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก การออกแบบต่างๆ ก็ต้องออกแบบให้มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน “ตามไทม์ไลน์นั้น ทอท.จะต้องดำเนินการขยาย เฟส 2ตั้งแต่ปี 54 แล้วเสร็จในปี 60 แต่เอาเข้าจริงๆ กกลับกลายเป็นว่า กว่าทอท.จะเริ่มตอกเสาเข็มได้ก็เป็นวันที่ 14 ก.ย. 59 เข้าไปแล้ว ทำให้การคาดการณ์แต่เดิมที่เราวางไว้เปลี่ยนไป เวลานี้ผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิแซงหน้าศักยภาพสนามบินไปไกลถึง 60 ล้านคนต่อปีเข้าไปแล้ว
“หากเรายังคงเดินหน้าสร้าง Satellite Terminal 1 แล้วต้องมีการเปิดหน้างานก่อสร้างทั้ง 2 ปีกของอาคารในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะหากเปิดหน้างานทั้ง 2 ปีกก็จะกินพื้นที่ตรงเคาเตอร์ประมาณ 20-25 % และจะเกิดความโกลาหลอย่างมาก เพราะพื้นที่ตรงเช็คอินจะหายไปครึ่งหนึ่ง ทำให้ ทอท.ต้องเลือกสร้างเทอนินัล 2 ตามแผนขยายสุวรรณภูมิเฟส 3 มาคั่นกลาง ก่อนหันกลับไปดำเนินการตามแผนแม่บทเดิม ที่คงจะเริ่มในปี 2568 ไปแล้ว ”
หากพิจารณาจากสิ่งที่ฝ่ายบริหาร ทอท.หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง เหตุผลในการก่อสร้างเทอมินัล 2 ในพื้นที่เดิมไปก่อนนั้น เมื่อเทียบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้าน ความสามารถในการแข่งขันใช้ ภายใต้แนวคิด “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” โดยเฉพาะในข้อ 2 ปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคตแล้ว
ผมคงไม่ต้องอรรถาธิบายอะไร แต่ฝากให้ทุกฝ่ายลองใคร่ครวญหรือตรึกตรองกันดูว่า สิ่งที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ดำเนินการไปเป็นการดำเนินการที่สอดรับเป็นไปตามหลักการแนวคิดของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ การบริหารจัดการอุตสาหกรรมการบิน และที่เกี่ยวเนื่องกับการบินที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นส่ิงที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เหตุใดจึงกลายมาเป็นกรณี “ดราม่า” กลายเป็นความผิดมหันต์ที่สังคมกำลังตั้งคำถามเอากับ ทอท.เอาได้
หากฟันธงว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ดำเนินการไปไม่สอดคล้องกับแนวคิดยุทธศษสตร์ชาติและ ไม่สอดคล้องกับมาสเตอร์แพลนเดิมที่มี ที่เมื่อมีการปักธงเอาไว้ก็ควรเดินตามยุทธศษสตร์ชาติดังกล่าวทุกกระเบียดนิ้ว ทุกฝ่ายคงต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะส้ันเมื่อ ทอท.ต้องดำเนินการเปิดพื้นที่ขยายอาคารผู้โดยสารเดิม
ไม่่ว่าจะตัดสินใจเดินทางใด ทุกฝ่ายย่อมมี Cost ไม่มีอะไรได้มาฟรีครับ!
เนตรทิพย์