คมนาคมเล็งผุดทางด่วนใต้ดินสายแรก

0
82
คมนาคมเล็งผุดทางด่วนใต้ดินเส้นแรกในประเทศ ”นราธิวาศ-สำโรง” เทียบชั้น “ชินจูกุ-เมืองบอสตัน” หวัง แก้รถติดหนึบทั่วเมืองกรุง สั่งสนข.เร่งศึกษาด่วนคาดใช้งบลงทุนกว่า 20,000 ล้าน 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมงาน วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ครบรอบ 16 ปี ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สนข.เร่งศึกษาวิเคราะห์วางแผนโครงข่ายจราจรให้เชื่อมโยงกันทุกระบบ รวมทั้งเร่งแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพและปริมณฑลตามนโยบายของรัฐบาล  โดยให้พิจารณาทำถนนทางลอดใต้ดิน หรือถนนอุโมงค์รอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้เป็นเส้นทางบรรเทาการจราจรบนพื้นราบ  เพราะปัจจุบันพื้นผิวจราจรมีอย่างจำกัด ร่วมทั้งมีการสร้างถนนลอยฟ้าไปมากแล้วซึ่งอาจจะขยายต่อไปอีกไม่ได้
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปหามาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลแบบเร่งด่วน แนวทางหนึ่งคือให้ไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างถนนใต้ดินในลักษณะของอุโมงค์ เนื่องจากปัจจุบันถนนบนพื้นราบและถนนยกระดับในกทม.ได้สร้างขยายเกือบเต็มพื้นที่แล้ว  ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้มอบให้ สนข.ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าภายใน2-3เดือนจะเสนอผลการศึกษาไปให้คมนาคมพิจารณาได้
“จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจัดสร้างทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกในประเทศไทย  เส้นทางจะเริ่มจากบริเวณถนนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึง อ.สำโรง จ.สมุทรปราการ   เพราะเป็นเส้นทางที่มีลักษณะตัดตรง ในระยะยาว สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น บริเวณสาธร สีลม และบริเวณใกล้เคียงได้มาก  เบื้องต้นอาจจะสร้างเป็นทางด่วนใต้ดิน มีการเก็บเงินค่าผ่านทางสำหรับคนที่เข้ามาใช้  เพราะถือเป็นถนนทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการไปเสียเวลากับรถติด  ”
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สนข. ว่า ทางด่วนใต้ดิน นราธิวาสฯ- สำโรง มีระยะทางประมาณ 9กม. เบื้องต้นอาจจะสร้างเป็นทาง 2 ชั้น โดยชั้นบนจะทำเป็นถนนให้รถโดยสารสาธารณะวิ่ง ส่วนชั้นล่างให้รถยนต์ส่วนบุคคลวิ่ง โดยจะมีการจัดเก็บค่าบริการเหมือนทางด่วนทั่วไป เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และยังถือเป็นถนนทางเลือกอีกด้วย ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างนั้นอยู่ระหว่างการประเมิน  ซึ่งจากการสำรวจงานก่อสร้างถนนใต้ดินพบว่ามีต้นทุนก่อสร้างสูง เฉลี่ยระหว่าง กม.ละ2,000-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินของแต่ละพื้นที่ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี