“คีรี”พร้อมนำทีมไทยแลนด์ประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน โชว์5 สถาบันทางการเงินพร้อมหนุนเงินทุน 1.2 แสนล้านประเมินผู้เล่นลงสนามมีเพียง 2 กลุ่มใหญ่ร่วมชิงดำ พร้อมแย้มยื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม ขณะที่คมนาคมชวนเอกชนจัดตั้งศูนย์ประกอบรถไฟฟ้าปลายปีนี้
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภามูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทว่า ปัจจุบันบีทีเอสยังอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล และศึกษารายละเอียดเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ส่วนพันธมิตรร่วมลงทุนนั้น ขณะนี้ยังยืนยันว่าบีทีเอสจะร่วมประมูลภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่ประกอบไปด้วย บีทีเอส บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH)
ส่วนจะมีการเพิ่มพันธมิตรร่วมลงทุนอีกหรือไม่น้ัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยจะเป็นบริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ จำกัดใน เครือ ปตท.หรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่มีความชัดเจน แต่อย่างไรกตามหากจำเป็นต้องมีการจัดหาพันธมิตรรายที่ 4 แน่นอนว่าจะต้องเป็นบริษัทที่ซื้อซองทีโออาร์แล้ว รวมทั้งอาจจะต้องเป็นบริษัทคนไทย เนื่องจากปัจุจบันเข้าใจว่าบริษัทต่างชาติน่าจะจัดกลุ่มร่วมประมูลไปหมดแล้ว ทำให้กลุ่มบีทีเอสเดินหน้าประมูลครั้งนี้ด้วยทีมไทยแลนด์
“ตอนนี้บีเอสอาร์เราพร้อมประมูล พร้อมทำ เพราะเป็นหน้าที่ของบีทีเอสอยู่แล้วที่จะต้องเข้าร่วมโครงการระบบรถไฟฟ้าเนื่องจากเรามีประสบการณ์ทำรถไฟฟ้า ส่วนประสบการณ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เราก็มีบริษัทลูกทำอยู่เช่นกัน งานก่อสร้างก็ได้ซิโนไทยเป็นผู้ดูแล ขณะที่ปัญหาทางการเงินเราก็ไม่มี ตอนนี้มีสถาบันทางการเงินอย่างน้อย 5 แห่ง ทำหนังสือแสดงเจตจำนงค์ในการปล่อยเงินกู้ให้เราแล้ววงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท”
นายคีรี ยังกล่าวอีกว่า จากการประเมินผู้ร่วมประมูลโครงการดังกล่าวที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีเพียง 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มซีพีที่มีความชัดเจน ส่วนเอกชนรายใดจะจับกลุ่มกับใครนั้น ยังไม่เห็นภาพชัด คาดว่าภายใน 1 เดือนนี้น่าจะเห็นภาพมากขึ้น แต่ก็เริ่มพบว่าเอกชนต่างชาติที่มีอยู่กว่า 10 ราย แสดงความจำนงค์ที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มซีพีแล้ว
ขณะที่ผลการศึกษารายละเอียดทีโออาร์ ยังมีคำถามที่ต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงเพิ่มเติมอาทิ สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์โดยรอบสถานี (TOD)ที่ในทีโออาร์ระบุให้เอกชนเฉลี่ยจ่ายค่าสัมปทานตลอดอายุสัญญา 50 ปี ซึ่งโดยปกติการเช่าที่ดินของภาครัฐ กรมธนารักษ์ หรือที่ดินทรัพย์สินอื่นๆ เอกชนจะจ่ายเงินค่าสิทธิ์ในการพัฒนาเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียว ดังนั้นจึงต้องการให้รฟท.ชี้แจงในประเด็นนี้ เพราะการทยอยจ่ายหลายปจะส่งผลต่อการตั้งบัญชีรายจ่ายของบริษัท และเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติม
“การแยกเฉลี่ยค่าเช่าที่ดินแบบนี้จะกระทบทางบัญชี ถ้าผ่อนจ่ายเป็นหนี้ระยะยาวเกิดดอกเบี้ยตามมา ส่วนข้อเสนอในการให้ผู้ชนะการประมูลเข้าไปบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ นั้นบีทีเอสในฐานะผู้ที่บริหารกิจการรถไฟฟ้าอยู่แล้ว มีความพร้อมหากจะมอบให้บริหารก็พร้อมดำเนินการทันที โดยตั้งใจจะบริหารในรูปแบบของบีทีเอส หากจะต้องเพิ่มขบวนรถหรือลงทุนอะไรเพิ่มเราก็พร้อม”
นายคีรี ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันยื่นซอง12 พ.ย.นี้ นอกจากความพร้อมในการร่วมประมูลโครงการแล้ว กลุ่มบีเอสอาร์เตรียมยื่นข้อเสนอพิเศษซองที่ 4 ให้คณะกรรมการพิจารณาด้วย และแม้ว่าบีเอสอาร์จะชนะการประมูลหรือไม่นั้น ก็ยืนยันว่าจะเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน และขณะนี้ก็มีความพร้อมมากแล้ว โดยบีทีเอสลงทุนวงเงินกว่า 130 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบิน ซึ่งเล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญ ควรจะพัฒนา เพราะจะช่วยสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศได้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “Railway rolling stock maintenance and overhaul” “ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนในนโยบายโครงการระบบขนส่งทางราง ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางและรถไฟฟ้าในภูมิภาค ,โครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นทางรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม จะประกาศนโยบายตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า อุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยภายในสิ้นปี61นี้ คาดว่าจะสามารถจะตั้งได้ภายในปี 62 โดยขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ตุรกีและออสเตรีย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน
“ปัจจุบันประเทศไทย ได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และมีการสั่งซื้อรถไฟฟ้าเข้ามาจำนวนมาก และมีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมีโรงงานประกอบตัวรถในไทย เพื่อให้การแก้ปัญหาต่างๆเป็นไปด้วยความรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันรัฐมีความต้องการพัฒนาขบวนรถไฟทางคู่เป็นระบบรถไฟฟ้า ด้วย เพราะประหยัดและสะอาดกว่ามาก โดยคาดว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานประกอบตัวรถในประเทศไทย ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบตัวรถไฟในไทย
เปิด ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะสามารถดำเนินการได้ทันที “