กพอ.ทำคลอด 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีวงเงิน 4.7 แสนล้าน ชงเข้าครม.พร้อมเร่งออกหนังสือชี้ชวนต.ค.นี้ เบ็ดเสร็จรวมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่อนุมัติไปก่อนหน้าวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 6.52 แสนล้าน เป็นส่วนของรัฐลงทุน 2.09 แสนล้าน ได้ผลตอบแทนทางการเงิน 4.46 แสนล้าน “บิ๊กตู่”ปลื้มประเทศได้เงินมาก
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบหลักการโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพิ่มอีก 4 โครงการ จากทั้งหมด 5 โครงการ หลังจากที่เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปก่อนหน้านี้ และได้ออกเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมทุนกับรัฐไปเมื่อวันที่ 18มิ.ย.ที่ผ่านมา กำหนดรับข้อเสนอเอกชนในวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดย 4 โครงการที่เห็นชอบครั้งนี้ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก,โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา,โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าเงินลงทุนทั้ง 4โครงการรวม 470,035 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของ 4 โครงการมีดังนี้คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าเงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนในส่วนของภาครัฐจำนวน 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินโครงการรวม 193,612 ล้านบาท แบ่งเป็นของภาครัฐ 119,353 ล้านบาท และผลตอบแทนภาคเอกชนในส่วนที่จะได้กำไร 74,259 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 189,999 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 15,640 ตำแหน่งต่อปี กำหนดออกหนังสือชี้ชวนในเดือนต.ค.2561และได้เอกชนผู้ร่วมทุนในเดือนก.พ.2562 โครงการเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
ส่วนประโยชน์ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คือประเทศไทยจะมีสนามบินนานาชาติรองรับได้ 60 ล้านคน เทียบเท่าสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกใน 5 ปีข้างหน้า และในอนาคตพื้นที่จากพัทยาถึงจ.ระยอง จะกลายเป็นศูนย์กลางการขยายตัวของการพัฒนาไปสู่การเป็นมหานครการบินภาคตะวันออกในระยะ10 ปี โดยสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย
ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ)อู่ตะเภา วงเงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท ในส่วนของภาครัฐ 6,333 ล้านบาท และเอกชน 4,255 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 38,872 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 36,000 ล้านบาทและภาคเอกชน 2,872 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 22,100 ล้านบาท ไม่รวมการจ้างงานเทคโนโลยีขั้นสูง และจะเพิ่มรายได้จากบริการสายการบินต่างประเทศประมาณ 200,000 ล้านบาท กำหนดออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.2561 ได้เอกชนผู้ร่วมทุนเดือนก.พ.2562 เปิดดำเนินการกลางปี 2565 ประโยชน์ของโครงการนี้คือ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค
ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมท่าเรือเอฟ และท่าเรืออี 114,047 ล้านบาท ในเบื้องต้นจะดำเนินการในส่วนของท่าเรือเอฟก่อน วงเงินลงทุนรวม 84,361 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนภาครัฐ 53,490 ล้านบาท ภาคเอกชน 30,871 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนโครงการ 76,078 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 73,358 ล้านบาท ภาคเอกชน 2,720 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 180,000 ล้านบาท โครงการนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นประตูส่งออกของประเทศ หากไม่ดำเนินการจะทำให้ท่าเรือเดิมเต็มความจุเป็นข้อจำกัดของการส่งออก เพิ่มความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 18 ล้านทีอียูจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียู กำหนดออกหนังสือชี้ชวนในเดือนต.ค.นี้และได้เอกชนผู้ร่วมทุนเดือนก.พ.2562 เปิดดำเนินการได้ปลายปี 2566
สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมเงินลงทุนทั้งหมดทั้งท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้าจำนวน 55,400 ล้านบาท เบื้องต้นจะดำเนินการในส่วนของท่าเรือก๊าซวงเงินลงทุน 47,900 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนภาครัฐ 12,900 ล้านบาท ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 47,357 ล้านบาท ภาครัฐได้ผลตอบแทน 34,221ล้านบาท ภาคเอกชน 13,136 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 85,300 ล้านบาท ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 10.8 ล้านตันต่อปีจากปัจจุบัน 4 ล้านตันต่อปี กำหนดออกหนังสือชี้ชวนเดือนต.ค.2561 และได้เอกชนผู้ร่วมทุนเดือนม.ค. 2562 เปิดดำเนินการในปี 2568
“ทั้ง 4โครงการจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนต.ค.นี้ เพื่อให้ทันกำหนดออกหนังสือชี้ชวนภายในเดือนต.ค.นี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วยแล้ว จะมีวงเงินลงทุนรวม 652,559 ล้านบาท เป็นส่วนของรัฐลงทุน 209,916 ล้านบาทคิดเป็น 32% ของเงินลงทุนรวม ส่วนเอกชนลงทุน 442,643 ล้านบาทคิดเป็น 68% ได้กำไร 112,755 ล้านบาท และรัฐจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินตลอดระยะเวลาโครงการ 50ปีรวม 446,960 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังว่า ทำเสร็จแล้วประเทศจะได้เงินมาก ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 819,662 ล้านบาท”