DJSI ดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กรที่ยั่งยืน ริเริ่มในปี 2542 ได้มีการเปิดตัว DJSI ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM โดยเชิญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 3,400 แห่งใน 60 อุตสาหกรรม เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จนกระทั่ง เป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลก รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่างๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน และมั่นใจว่าบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ที่ได้รับการประเมินความยั่งยืนอย่างเช่น ในปี 2017 นี้มีความหลากหลายและ ถูกประเมินอย่างเท่าเทียมกันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Assessment ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำ มีความสม่ำเสมอ และมีระเบียบวิธีที่ชัดเจน โดยประเมินจากข้อมูลเฉลี่ย 600 ประเด็น ที่แต่ละบริษัทจะได้รับและประเมินออกมาเป็นผลคะแนนเดียวซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกระบุอยู่ใน DJSI
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นประเทศที่มีสมาชิกจำนวนสูงสุดในอาเซียน ทั้งในกลุ่มดัชนี DJSI World และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets โดยกลุ่มดัชนี DJSI World จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 17 บริษัท ได้แก่
บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ. บ้านปู (BANPU), บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC),บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ปตท. (PTT),บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)
ล่าสุด ในปี 2561 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยังคงได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices :DJSI) ประเภท Emerging Market ประจำปี 2561 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ตอกย้ำประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนระดับโลกครบทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี
ซีพีเอฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ประเภท Emerging Markets ประจำปี 2561 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยซีพีเอฟเป็น 1 ใน 16 บริษัท จาก 104 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทั่วโลก (FOA Food Products) ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิผลของการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อประเทศ ประชาชน และบริษัท
วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ซีพีเอฟ ยังคงอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI ปี 2561 โดยหัวข้อที่ซีพีเอฟมีคะแนนสูงสุดจากผลการประเมิน ได้แก่ สุขภาพและโภชนาการ กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านน้ำ การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลด้านสังคม ขณะที่หัวข้อที่มีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายและระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และกลยุทธ์ด้านภาษี
“บริบทแห่งความยั่งยืนมีขอบเขตที่กว้างขวาง ไม่หยุดนิ่ง และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและห้วงเวลาที่แปรเปลี่ยน การเป็นสมาชิก DJSI อย่างต่อเนื่องเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความพยายามและความตั้งใจจริงของซีพีเอฟในการแสวงหา เรียนรู้ และดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าร่วมไปกับผู้มีส่วนได้เสียบนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน และเพื่อโลกนี้ที่เป็นบ้านของเรา”
วุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเด็นด้านสุขโภชนาการและด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ประกาศนโยบายพร้อมเป้าหมาย 2563 (2020 Target) เพื่อให้สามารถติดตามและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปี 2560 ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์อาหารใหม่เพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด โดยตั้งเป้าไว้ร้อยละ 30 ภายในปี 2563 ขณะที่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบ 4 เรื่อง ได้แก่ การใช้พลังงานร้อยละ 15 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 15 น้ำร้อยละ 25 และของเสียร้อยละ 30 ต่อหน่วยการผลิต ภายในปี 2563 ซึ่งในปี 2560 สามารถลดได้แล้วร้อยละ 12, 7, 23 และ 9 ตามลำดับ นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใสและทั่วถึงอีกด้วย
“DJSI ถือว่าเป็นเข็มทิศในการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน ทำให้องค์กรสามารถวัดผลการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยซีพีเอฟบริหารจัดการความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ ” บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดูแลพัฒนาบุคลากร” นายวุฒิชัย กล่าวย้ำในที่สุด