หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เรือพระราชทานเวชพาหน์ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ออกให้บริการทางการแพทย์ ให้ความรู้เรื่องสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภค โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำลำคลอง ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2561
นับแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานเรือยนต์หลวง “เวชพาหน์” (อ่านว่า เวด-ชะ-พา) ให้แก่สภากาชาดไทย ณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2498 เพื่อใช้ในกิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาถึง 63 ปี ที่เรือรักษาพยาบาลทางน้ำยังคงลอยลำออกปฏิบัติงานให้บริการตรวจรักษาประชาชนตามพระราชประสงค์ทุกประการ ทั้งทางด้านการตรวจรักษาโรคทั่วไป การฝังเข็มประยุกต์ ตรวจรักษาทางทันตกรรม (ให้บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน) ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา การป้องกันโรค และการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ด้วยปัจจัยการดำรงชีวิต ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามวาระและโอกาสต่างๆ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท อู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์ตามข้อความที่เขียนติดไว้ด้านข้างเรือ 2 ด้าน ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเรือลำนี้ เมื่อ พ.ศ. 2498 เพื่อใช้บรรเทาทุกข์และรักษาประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น”
เรือพระราชทาน “เวชพาหน์” เป็นเรือไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 3.81 เมตร ยาว 15.69 เมตร สูง 3.75 เมตร กินน้ำลึก 1.20 เมตร เครื่องยนต์ดีเซล 200 แรงม้า เครื่องยี่ห้อโตโยต้า 6 สูบ ความเร็วเรือ 12 น็อตต่อชั่วโมง และสามารถบรรทุกผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ 30 คน
โดยมีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้ ชั้นบน เป็นโถงโล่ง ใช้เป็นที่พักผ่อนสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ ชั้นล่าง ประกอบด้วย ห้องตรวจรักษาโรคทั่วไป ห้องทันตกรรม ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องนอนเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ห้องสุขา ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องเครื่องยนต์ สำนักพระราชวังได้จดทะเบียน “เวชพาหน์” เป็นเรือยนต์หลวงและให้อยู่ในความดูแลรักษาของฝ่ายเรือยนต์หลวง กองพระราชพาหนะ สำนักพระราชวัง ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือในการนำออกใช้ปฏิบัติงานตามที่สภากาชาดไทยกำหนดแจ้งขอเป็นครั้งคราว
เรือพระราชทานเวชพาหน์ ปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม –17 กุมภาพันธ์ 2498 ที่จังหวัดนนทบุรี และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2-6 ตุลาคม 2560 ที่จังหวัดปทุมธานี โดยปฏิบัติงานรวมทั้งสิ้น 152 ครั้ง ใน 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม อุทัยธานี และสมุทรปราการ รวมผู้มารับบริการกว่า 347,837 ราย
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เรือพระราชทานเวชพาหน์ ออกให้บริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำลำคลอง ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปฏิบัติงานร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2561 ดังนี้
วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติงาน ณ วัดสีกุก อำเภอบางบาล
วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติงาน ณ วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 3 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติงาน ณ วัดช่างทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 4 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติงาน ณ ที่ว่าการอำเภอบางปะอิน อำเภอบางปะอิน
วันที่ 5 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติงาน ณ วัดเชิงท่า อำเภอบางปะอิน
“มุ่งสู่สายธาร…ปณิธานเบื้องยุคลบาทที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ยังคงนำนาวาพระราชทาน “เวชพาหน์” มุ่งหน้าฝ่าระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่า ที่วิ่งเข้ากระทบตัวเรือเสมือนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำทุกวันเวลา และยังคงปฏิบัติภารกิจงานบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำต่อไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรและพระมหากรุณาธิคุณนี้ก็จะมีต่อไปตราบชั่วกาลนาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทวยราษฎร์ สืบไป”