แม้รัฐนาวาของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กำลังเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่นับวันยิ่ง “สาละวันเตี้ยลง” ให้กลับมามีทิศทางใส โดยได้มอบดาบอาญาสิทธิ์ ให้กับแม่ทัพเศรษฐกิจคนใหม่ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรี เดินหน้าฟาดฟันเศรษฐกิจขาลง ปูพรมอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หวังกระทุ้งเศรษฐกิจรากหญ้า พร้อมปลุกความเชื่อมั่นและกำลังซื้อผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังเดินหน้าผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ และยังขยายเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
เช่นเดียวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ยังเดินหน้าพันธกิจสำคัญในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใดๆ ตลอดจนการบำรุงและรักษาทางพิเศษ ดำเนินงานหรือธุรกิจเกี่ยวกับทางพิเศษและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อกับทางพิเศษ หรือที่เป็นประโยชน์แก่กทพ. เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง ตลอดถึงช่วยเอื้อประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว การขนส่งและโลจิสติกส์ให้เกิดความคล่องตัว
แต่ทว่า พันธกิจด้านการดำเนินการภายใต้โครงการทางพิเศษที่กำลังก่อสร้าง รวมถึงโครงการทางพิเศษที่อยู่ในแผนการพัฒนา ทั้งในระยะเร่งด่วน และการพัฒนาเพื่ออนาคต รวมถึงภารกิจการแก้ไขปัญหาจราจร และกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนับจากนี้ไปจะมีอะไรบ้างนั้น Logistics Timeขอประมวลเหลียงหลังและหน้ากับภาพรวมพันธกิจของกทพ.จากบทสัมภาษณ์ “นายอัยยณัฐ ถินอภัย”ผู้ว่าการ กทพ. ดังนี้
“ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ) ได้เปิดให้บริการแล้วใน 7 สายทาง 207.9 กม. ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร 27.1 กม. ทางพิเศษศรีรัช 38.4 ทางพิเศษฉลองรัช 28.2 กม. ทางพิเศษอุดรรัถยา 32.0 กม. ทางพิเศษบูรพาวิถี 55.0 กม. ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) 4.7 กม. และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) 22.5 กม. นอกจากนี้ เราได้ยังให้บริการในทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภุมิ เชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อเฉลิมราชดำริ 84 พรรษา อีกด้วย”
ปรารภแรก ผู้ว่าการ กทพ.และระบุอีกว่าโครงการทางพิเศษที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยโครงการนี้เป็นแนวสายทางเริ่มต้นจาก ถ.วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ไปตามแนวเขตทางของทางรถไฟสายใต้ ขนานไปกับถนนบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 ผ่านบริเวณแยกบางซื่อ และไปสิ้นสุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ระยะทาง 16.7 กม.มีวงเงินค่าก่อสร้างโครงการ และค่าดำเนินการ24,417ล้านบาท และมีวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,564 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง48 เดือนระยะเวลาสัมปทาน30 ปีซึ่งเป็นน่ายินดีว่าการก่อสร้างรวดเร็วกว่าแผนไปมาก จากเดิมที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนในปลายปี59 แต่กทพ.จะเร่งเปิดให้บริการภายในเดือนก.ค.ปี 59
8 โครงการในแผน 3 โครงการเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม นายอัยยณัฐ ได้เปิดเผยถึงโครงการทางพิเศษในแผนที่กำลังดำเนินการว่าขณะนี้กทพ.กำลังเดินหน้าดำเนินการโครงการทางพิเศษิ 8 โครงการได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก3.โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา4.โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา 5.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 6.โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต 7.โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ และ8.โครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น
“ในบรรดาทั้ง 8 โครงการนั้น กทพ.ได้แบ่งเป็นโครงการระยะเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและเป็นแผนเร่งด่วนภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2N3 และE-W Corridor ด้านตะวันออก ขณะที่โครงการระยะเร่งด่วนภายใต้โครงการทางพิเศษในเมืองหลักตามภูมิภาคอีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต”
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวเสริมว่าสำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก 1 ใน 2 โครงการระยะเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นโครงการที่สามารถขยายโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบน ถ.พระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่-ดาวคะนอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัย เป็นต้น
“แนวสายทางโครงการนี้ เริ่มต้นที่ กม. 10+700 ของ ถ.พระรามที่ 2 บริเวณ ถ.วงแหวนรอบนอก กทม. เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลาง ถ.พระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณ ถ.พระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช และช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 16.92 กม. สถานการณ์ดำเนินการในปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ เพื่อพิจารณารายงาน EIA แล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 58ที่ผ่านมา และขณะนี้กทพ. อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดของโครงการ คาดจะสามารถจ้างที่ปรึกษาได้ในเดือน ต.ค.ศกนี้และคาดภายในต้นปี 2560 จะสามารถดำเนินก่อสร้างได้”
เร่งผลักดันทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ-ทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองภูเก็ต
ส่วนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 และ N3 นั้น นายอัยยณัฐ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่าเป็นโครงข่ายทางพิเศษในแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือและเชื่อมโครงข่ายทางพิเศษในแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯให้มีความคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวสายทางโครงการนี้ ตอน N1 เริ่มต้นจาก ถ.วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตกบริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ ไปตาม ถ.รัตนาธิเบศร์ ผ่านสี่แยกแคราย ถ.งามวงศ์วาน สิ้นสุดบริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ ระยะทาง 16.6 กม.ขณะที่ตอน N2 เริ่มจากสี่แยกเกษตรศาสตร์ แนวสายทางทับซ้อน ถ.ประเสริฐมนูกิจ (ถ.เกษตร-นวมินทร์) ของกรมทางหลวง(ทล.) สิ้นสุดที่ ถ.นวมินทร์ระยะทาง 9.2 กม. ด้านตอน N3 เริ่มจาก ถ.นวมินทร์ ผ่าน ถ.เสรีไทย และ ถ.รามคำแหง สิ้นสุดโครงการที่ ถ.กรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ บริเวณ ถ.ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างทางพิเศษศรีรัช ส่วน D กับ ถ.กรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ ระยะทาง 13.9 กม. และตอน E-W Corridorด้านตะวันออก เริ่มต้นจากทางแยกซึ่งเป็นจุดบรรจบของ ถ.เกษตร-นวมินทร์กับ ถ.นวมินทร์ ซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 351 ไปบรรจบกับ ถ.วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออกระยะทาง 2.6 กม.รวมระยะทางรวม 42.3 กม.
“ขณะนี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ได้มีมติมอบสำนักงานงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร( สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยพิจารณาความเหมาะสม และผลกระทบของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าเพื่อทดแทนการดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 เพื่อดำเนินการ ก่อน รฟม. ดำเนินการออกแบบโครงการต่อไป หากผลการศึกษามีความเหมาะสม”
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการทางพิเศษในเมืองหลักตามภูมิภาคนั้น ผู้ว่าฯกทพ.ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลักตามภูมิภาคเร่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆดังนั้น กทพ.ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้วางแผนศึกษาความเหมาะสมฯ ของระบบทางพิเศษในเมืองหลักตามภูมิภาคขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่คับคั่ง โดยเริ่มต้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกภายใต้โครงการทางพิเศษเพื่อแก้ปัญหาจราจรด้วยการเจาะอุโมงค์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโครงการแรกของกทพ.อีกด้วย
“โครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงการเดินทางจาก อ.กะทู้ ไปยังหาดป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 และเพื่อใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้นและกระทรวงคมนาคมได้บรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 – 2562 ในกลุ่มกิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง โดยแนวสายทางเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) เริ่มต้นโครงการที่ ต.ป่าตอง บริเวณ ถ.พระเมตตา (ถ.ผังเมืองรวมสาย ก) เป็นทางยกระดับข้าม ถ.พิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. แล้ว จึงเป็นอุโมงค์ ระยะทาง 1.85 กม. หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. สิ้นสุดโครงการที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมระยะทาง 3.98 กม.”
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ เพื่อพิจารณารายงาน EIA แล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 58คาดภายในปีนี้จะได้รับข้อสรุปในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต ได้เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการนี้ได้”
ทางพิเศษระหว่างเมือง –ทางพิเศษภูมิภาคยังเดินหน้าต่อเนื่อง
ขณะที่การดำเนินโครงการทางพิเศษระหว่างเมืองอื่นๆนั้น ผู้ว่าฯกทพ.ระบุว่าแม้โครงการทางพิเศษระหว่างเมือง ที่นอกเหนือโครงการระยะเร่งด่วนของกทพ. ใช่ว่าเราจะไม่ดำเนินการต่ออย่างเป็นรูปธรรม เพราะโครงการเหล่านี้ กทพ.ทำการศึกษาแล้ว และยังอยู่ในแผนการดำเนินการในอนาคตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา และโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยา
“โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เป็นโครงการที่สามารถขยายโครงข่ายทางพิเศษบูรพาวิถีไปยังภาคตะวันออก เชื่อมต่อเข้าไปภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งาจะช่วยระบายรถบรรทุกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่เข้า-ออกภายในนิคมฯและท่าเรือแหลมฉบังให้เกิดความคล่องตัวได้ดีอีกทั้งยังเป็นการเชื่อมต่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเมืองชลบุรีและเมืองพัทยาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งแนวสายทางโครงการนี้ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร เริ่มต้นที่ปลายทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณด่านชลบุรี มุ่งไปทางทิศใต้ตามทางเลี่ยงเมืองจังหวัดชลบุรี ขนานกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี) โดยอยู่ด้านซ้าย ผ่านศรีราชา หลังจากนั้นจะเบี่ยงไปด้านขวาของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และมีเส้นทางเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองพัทยา รวมระยะทาง 68 กม.”
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ เพื่อพิจารณารายงาน EIA เมื่อสผ.เห็นชอบแล้วคงจะสามารถดำเนินการในขั้นต่อไปได้”
“ส่วนโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นโครงการขยายโครงข่ายทางพิเศษโดยเชื่อมต่อจากทางพิเศษอุดรรัถยาไปยังภาคกลางตอนบนและภาคเหนือ เชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความต้องการการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจ.พระนครศรีอยุธยาอีกด้วย โดยแนวสายทางโครงการนี้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อไปจากทางพิเศษอุดรรัถยา ที่บริเวณด่านบางปะอิน อ.บางปะอิน ไปทางทิศเหนือ ผ่าน อ.บางไทร อ.บางบาล ไปสิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 42 กม.”
ด้านโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดปทุมธานีด้านตะวันออก จังหวัดนครนายก -สระบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีแนวสายทางเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ต่อเชื่อมกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ บริเวณ ถ.วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก จะไปทางทิศตะวันออกตัดผ่าน ถ.หทัยราษฎร์ ถ.นิมิตใหม่ ขึ้นไปทา ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่าน ถ.ลำลูกกา ทางหลวงชนบท นย. 3001 ถ.รังสิต-นครนายก แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถ.สุวรรณศร) จากนั้นตัดข้ามและเลียบไปตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา แล้วจึงเข้าบรรจบทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่ กม.10+700 ระยะทาง 104.5 กม.ส่วนสถานการณ์ดำเนินการของทั้ง 2 โครงการนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน
“ส่วนโครงการทางพิเศษในเมืองหลักตามภูมิภาคที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่นนั้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ เรายังเดินหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทั้ง 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ เรายังมีแผนขยายการพัฒนาในจังหวัดใหญ่ๆของประเทศ เช่น นครราชสีมา พิษณุโลก เป็นต้น ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายที่เราจะทำการศึกษาและทำแผนแม่บทเป็นอันดับต่อไปด้วย”
เข้มความปลอดภัย เติมเต็มกิจกรรมเพื่อสังคม
ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาจราจรและการเพิ่มความปลอดภัยบนทางพิเศษนายอัยยณัฐ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา เราได้แก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ โดยการก่อสร้างช่องจราจรเพิ่มเติม ได้แก่ เปิดให้บริการด่านฯ อาจณรงค์ 3ซึ่งเป็นการช่วยระบายการจราจรในซอยสุขุมวิท 50 และระบายการจราจรจาก 4 แยกบางนา-กล้วยน้ำไท นอกจากนี้เราได้เพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (Easy Pass)เพื่อรองรับการจราจรในทุกสายทางเพิ่มขึ้น 50 % เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ
“ขณะที่การเพิ่มช่องระบายรถออกจากทางพิเศษบูรพาวิถี ที่ด่านฯ ชลบุรี ด่านฯ บางปะกง1 ด่านฯ วงแหวนรอบนอก (บางแก้ว) โดยเราจะทำการขยายเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทาง ขณะที่กทพ.ได้ออกแบบและอยู่ในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง เช่นเดียวกันที่ทางพิเศษกาญจนาภิเษก ที่ด่านฯ บางขุนเทียน และด่านฯ ปากน้ำและทางพิเศษกาญจนาภิเษก ที่ด่านบางแก้ว2 และด่านฯ บางแก้ว3ทั้ง 3 ด่านอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างในปีงบประมาณหากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้จราจรบนทางพิเศษในทุกสายทางเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ในส่วนการให้บริการ ณ จุดพักนั้น หากผู้ใช้บริการที่ผ่านไปทางขาออกไปถนนแจ้งวัฒนะ ด่านประชาชื่น (ขาออก) ก็จะเห็นจุดพักรถที่เปิดให้บริการเรียบแล้ว เป็นโครงการจุดพักรถอีกโครงการหนึ่งที่มีความพร้อมในด้านความสะดวก เราเน้นด้านความสะอาดของห้องน้ำ มีร้านค้าให้บริการ มีพื้นที่จอดรถกว้างขวางสะดวกสบาย และเป็นที่น่ายินดีที่มีผู้ใช้บริการกันเป็นจำนวนมากและยังมีอีกหลายจุดพักรถที่เรากำลังเร่งดำเนินการ ถัดจากด่านประชาชื่นแล้วเราก็จะไปเปิดบริการจุดพักรถที่ด่านฯ จตุโชติ และด่านฯ บางแก้ว”
ปลดล็อค“ค่าประกันบัตร”หนุนผู้ใช้บัตร Easy Pass เพิ่ม
ด้านการแก้ไขปัญหาระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ Easy Pass นั้นผู้ว่าการ กทพ.ระบุว่ หลังเกิดปัญหาด้านนี้ขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเราได้แก้ปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญเมื่อผมเข้ารับหน้าที่เป็นผู้ว่าฯก็ได้ตัดสินใจยกเลิกการเก็บค่าประกันบัตร Easy Pass เพื่อเป็นช่องทางให้กับพี่น้องประชาชนใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นน่ายินดีที่ขณะนี้เราได้จำหน่ายบัตร Easy Pass ไปแล้วทั้งสิ้น 1 ล้าน 3 หมื่นใบ กลายเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้บริการ และเราจะเพิ่มแรงกระตุ้นให้เพิ่มมากกว่านี้ในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ เราได้ดำเนินการโครงการศูนย์การจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลการจราจร สะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว และเผยแพร่สู่สาธารณะ หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่างๆ
“ภายใต้โครงการนี้เราจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการอย่างครบวงจร เพื่อก่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยผู้ใช้ทางพิเศษของเรา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการป้ายจราจรอัจฉริยะ ระบบเก็บข้อมูลสภาพจราจรอัตโนมัติ ระบบแสดงผลสภาพจราจรแบบ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสภาพจราจรอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบสถานะอุปกรณ์ ระบบตรวจจับอุบัติภัยอัตโนมัติ ระบบรายงานสภาพจราจรผ่านโทรศัพท์มือถือระบบรายงานผลกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัตินำระบบกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติมาใช้และร่วมมือกับตำรวจในพื้นที่ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถเร็วที่ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีติดอุปกรณ์กันกระแทก Crash Cushion ที่แยกตัววาย 13 จุดจราจรดับเพลิง เพื่อความสะดวกในการเข้าไปจุดเกิดเหตุด้วยความรวดเร็วการกู้ภัยบนทางด่วนจัดการจราจรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางด่วนติดตั้งป้ายข้อความ (VMS)”
อย่างไรก็ดี นายอัยยณัฐ สรุปปิดท้ายว่าแม้กทพ.จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินการที่ก่อผลกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี ประสบความสำเร็จในเชิงการบริการจัดการอย่างเป็นระบบและโปร่งใสก็ตาม แต่เราไม่ลืมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยกทพ.ได้ผนึกความร่วมมือจัดกิจรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายอื่นๆในหลากหลายกิจกรรม ทั้งล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษที่ด่านดินแดงและดินแดง 1เพื่ออำนวยความสะดวกกิจกรรม “Bike for mom”มอบพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ทำลานกีฬาพัฒน์ 2 พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ โครงการ “ต้นกล้า กทพ. ปลูกป่า ปลูกความดี รักษ์สิ่งแวดล้อม”สนับสนุนการสร้าง อุทยานราชภักดิ์ ของกองทัพบก โครงการ “สานฝันเด็กไทย จากใจการทางพิเศษฯ”โครงการสวนสุขภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทยด่านฯ รัชดา ทางลงประชานุกูลเป็นต้น
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทพ.ได้ตอบสนองพี่น้องประชาชนในด้านการเดินทางสะดวกปลอดภัย รวมถึงการบริการที่เราได้ทุ่มเทสรรพกำลังให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์อย่างเต็มกำลัง เราได้รับทั้งคำติชม เราก็นำมาปรับปรุงสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกเสียงทุกคำแนะนำที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนการทำงานและการบริการของกทพ. เราไม่เคยละเลยและได้นำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและปรับปรุงการบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการสืบไป”
ทั้งหมด คือพันธกิจในการเดินหน้าพัฒนาและลงทุนโครงการทางพิเศษในทุกสายทางของกทพ. รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ฟันกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี นอกเหนือมิติความสำเร็จด้านการพัฒนาและการลงทุนแล้ว ยังสะท้อนถึงมิติการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการด้านความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยอย่างถึงที่สุด และยังเดินหน้าขยายพันธกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ทางพิเศษ เพื่อคนพิเศษ” ให้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง