ชำแหละดราม่า!“เทอร์มินัล2 สุวรรณภูมิ”

0
1225

ระอุแดดแหวกสายฝนขึ้นมาทันทีหลังที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ทอท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) มีมติเห็นชอบให้ทอท.ดำเนินงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) กับ “ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก” หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ชนะการประกวดแบบต่อไปหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.61 ให้ยกคำร้อง “กลุ่มบริษัทเอสเอ กรุ๊ป” ผู้ฟ้องคดีที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ 

แม้ทอท.จะอาศัยความชอบธรรมจากคำสั่งศาลปกครองเดินหน้าโครงการต่อไป แต่อีกฟากของสังคมยังคงตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการและขั้นตอนการประกวดราคา และโดยเฉพาะการดำเนินงานของทอท.ต่อกรณี“จับแพ้ฟาวล์”ผู้ชนะประมูลในครั้งนี้ ที่ผู้ได้คะแนนอันดับ1 กลับถูกปรับตกเพียงเพราะไม่ได้แนบเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ขณะที่ผู้ชนะประกวดราคาในอันดับ 2 ที่ได้รับการคัดเลือกก็ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา “ลอกเลียนแบบ”สถาปนิกญี่ปุ่น

ล่าสุดยังมีกรณีดราม่าหนักถึงขั้นกลุ่มเอสเอ กรุ๊ป ที่ถูกปรับแพ้ฟาวล์ยังคงเดินหน้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ยกเลิกการการประกวดการออกแบบเจ้าปัญหาเพื่อขอให้มีการประกวดออกแบบใหม่อีกครั้ง หลังจาก ทอท.ยังคงยืนยันไม่อาจจะรั้งรอได้ เพราะจะทำให้ไทม์ไลน์การก่อสร้างและขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเฟส 2 ล่าช้าไปกว่ากำหนด

Logistics Time ขอใช้เวทีนี้สะท้อนข้อเท็จจริงทั้งจากฝั่งทอท. เอง รวมถึงมุมมองจากนักวิชาการที่ดาหน้าออกมาตั้งข้อสังเกตและรุมแฉการบริการจัดการที่ผิดเพี้ยนของทอท.หวังเป็นกระจกเงาสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ดังนี้ : 

ทอท.สั่งเดินหน้าโครงการต่อ 

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่19 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับทราบความคืบหน้ากรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่คุ้มครองการประกวดแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ ทอท.สามารถเดินหน้าโครงการดังกล่าวได้

“หลังจากนี้ไป ทอท.จะดำเนินการตามขั้นตอนประกวดราคาต่อไป โดย ทอท. จะต้องเตรียมเอกสารและนัดลงนามสัญญากับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาคผู้ชนะการประกวดแบบต่อไป ส่วนคำตัดสินของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งไม่คุ้มครองนั้น เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ถ้ามีการออกคำสั่งคุ้มครองจะเกิดความเสียหายมากกว่า เพราะโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เป็นงานสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีมูลค่าสูง และปัจจุบันการออกแบบอาคารก็ล่าช้ามา 8 – 9 เดือน หากล่าช้าออกไปอีกก็จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ”

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทอท.ระบุว่าจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น บอร์ดร ทอท. จึงมีมติเห็นชอบให้ ทอท.ดำเนินงานจ้างสำรวจออกแบบให้เป็นไปตามผลการพิจารณาจัดหา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างสำรวจออกแบบฯ ได้ภายในเดือนกันยา61 และออกแบบก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน เพื่อจะนำแบบไปประมูลงานก่อสร้าง คาดจะเริ่มการก่อสร้างปลายปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2564

“อาคารแห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. ได้ 90 ล้านคนต่อปี ผู้โดยสารจะได้รับบริการจากสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อความต้องการ และรวดเร็วต่อการใช้บริการท่าอากาศยาน”

ส่วนประเด็นการฟ้องร้องระหว่างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอสเอ กรุ๊ป และ ทอท.นั้น ดร.นิตินัย ระบุว่ายังอยู่ในกระบวนการต่อไป โดยหากศาลมีคำพิพากษาทอท. เป็นฝ่ายกระทำผิดจริง ถึงเวลานั้นทอท. ก็สามารถจ่ายเงินชดเชยความเสียหายแก่เอกชนได้

“เทอมินัล 2”อาคารฯกระทงหลงทาง?

ขณะที่รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (2542-2544)ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติได้สะท้อนมุมมองว่าเดิมทีแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อจะก้าวเป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสารมากที่สุดในโลก คือปีละ 200 ล้านคนนั้นได้ถูกทำไว้ล่วงหน้าแล้วประมาณปี 2550 โดยผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ชาวต่างประเทศที่การท่าฯว่าจ้างมาด้วยราคาค่าตัวแสนแพง ได้วางแผนและกำหนดให้ค่อยๆทยอยก่อสร้างไปเรื่อยๆ

“อาคารผู้โดยสาร 2 หลังแรกคือที่สร้างเสร็จไปแล้วหันหน้าสู่ถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี ซึ่งอาคารหลังนี้ในแผนแม่บทกำหนดว่าจะขยายออกด้านข้างทางทิศตะวันออกไปจนสุดชายคา ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะอยู่ปลายสุดของรั้วสนามบินด้านทิศใต้ หันหน้าสู่ถนนบางนา-ตราด โดยทั้ง 2 อาคาร จะมีอาคารเทียบเครื่องบินขนาดใหญ่ เรียกว่า Satellite Terminal  อีกแห่งละหนึ่ง ทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินของสนามบิน ทำให้แต่ละอาคารทั้ง2ทิศรับผู้โดยสารได้แห่งละ 60 ล้านคนต่อปี” 

แต่ทว่า แผนแม่บทที่ว่านี้กำลังถูกละเลยเสียแล้วด้วยอำนาจอะไรไม่รู้ได้ ทำไมมันจึงเกิดอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นในที่ที่ไม่ควรเกิดมากระจุกตัวเบียดอยู่ในกับอาคารหลังปัจจุบัน ซึ่งหากสร้างขึ้นตรงนั้นจริงก็เท่ากับว่ามันถูกตัดขาดจากวงจรรถใต้ดินที่จะเชื่อมโยงระหว่างอาคารผู้โดยสารด้วยกัน และจากระบบขนส่งมวลชนที่รถไฟฟ้าไม่สามารถเข้าเทียบได้ถึงชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารอาคารหลังที่ 2 คงต้องลากประเป๋ากันน่องโป่งเข้าไปสร้างความแออัดในอาคารหลังที่ 1 อีกก่อนจะไปแย่งกันขึ้นรถไฟฟ้าที่นั่น

“ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ไปได้ เรื่องนี้ทอท.ต้องมีคำอธิบายและต้องสร้างความกระจ่างให้กับสังคม อย่าให้สาธารณะชนต้องคาดเดาและต้องหาข้อมูลเอง”

เตือนหายนะสนามบินในอนาคต

รศ.ดร.สมเจตน์ ยังสะท้อนมุมมองต่ออีกว่าความกังวลใจของผมไม่ใช่เรื่องการโต้เถียงกันเรื่องการประกวดแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่2 ทว่ามันเกี่ยวกับคำถามต่อการตัดสินใจของทอท.ที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นมาใหม่ ( ณ ที่ตั้งด้านทิศตะวันออก) ซึ่งไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทของสนามบินสุวรรณภูมิ อันจะนำไปสู่ความหายนะของสนามบินในอนาคต

“TOR ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ทอท.นำเสนอนั้น ไม่ได้เป็นไปตามผังแม่บท (ซึ่งใช้เวลา ๓ ปีในการจัดทำขึ้น)ในผังแม่บทดังกล่าว อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2จริงแล้วต้องตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ซึ่งในแผนแม่บทดังกล่าว ระบบสาธารณูปโภคทั้งปวงที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พึงต้องการได้ถูกวางแผน ออกแบบ และจัดสร้างไว้แล้วส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2ที่เสนอขึ้นมาใหม่นั้น ระบบลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร (BHS) เป็นระบบเอกเทศ และไม่สามารถเชื่อมต่อกับกับระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของอาคารหลังแรกได้ และจะไม่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารเชื่อมต่อ (Satellite Building)ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในเวลานี้ได้”

รวมทั้งศูนย์รวมระบบขนส่งกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร (BHS Hup-center) ซึ่งตั้งอยู่ที่ Concourse D ดังนั้น การวางแผนใหม่ ออกแบบใหม่ และหาทางเชื่อมต่อใหม่ไปยังระบบทำงานและสาธารณูปโภคที่มีอยู่แล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีประสิทธิภาพ


“ดร.สามารถ”ผสมโรง “รับใบสั่งใคร”

สอดคล้องกับมุมมอง “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาแฉเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าแผนแม่บทนี้จัดทำโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. โดยมีบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริการ่วมอยู่ด้ว ซึ่งช่วงหนึ่งการทำงานของผมได้เป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่งในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย อีกทั้งได้ทำงานกับ บริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ อยู่หลายปี และได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิพอสมควร

“นอกเหนือจากประเด็นทำเลที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ทอท.กำลังจะลงนามสัญญาจ้างผู้ชนะประกวดแบบเร็วๆนี้ได้ผิดเพี้ยนจากแผนแม่บทสุวรรณภูมิแล้ว ตามแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น ทอท. จะต้องขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ออกไปทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก เพื่อเพิ่มความจุผู้โดยสารให้กับอาคารได้มากขึ้น เหตุใด ทอท. ไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ก่อนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม”

ถึงกระนั้น ดร.สามารถ แฉเบื้องลึกต่อว่าหาก ทอท. เลือกที่จะขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้ง2 ปีก คือทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะใช้งบประมาณและเวลาน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ทอท.กำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยุ่ในเวลานี้

“หากมีการขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ทั้ง 2 ด้านแล้วก็จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี (ประมาณการจากตัวเลขของ ทอท. ที่อ้างว่า การขยายอาคารด้านตะวันออกเพียงด้านเดียวจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี) ดังนั้น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งมีวงเงินถึง 42,084 ล้านบาท โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน ก็สามารถชะลอออกไปได้”

อย่างไรก็ดี ดร.สามารถ ตั้งข้อสังเกตว่าหรือการที่ทอท.ไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้ง 2 ปีกนั้น เพราะเกรงว่าจะไปรื้ออาคาร City Garden ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือ เคพีเอส ที่ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ตามสัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2548 อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา ที่สามารถกอบโดยรายได้มหาศาลจากการทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่มแบบ Jungle Garden บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของอาคาร

“ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใย ทอท.ไม่อยากให้ ทอท. ถูกครหาว่า การไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเคพีเอสเท่านั้นเอง”

การที่ทอท.ตัดสินใจหักดิบเลือกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้วยวิธีการสุดพิลึกพิลั่นอีกทั้งรูปแบบอาคารยังถูกตราหน้าว่าไทยตกเป็นเมืองขึ้นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น แล้วยังเดินหน้าลุยไฟก่อสร้างสุดลิ่มทิ่มประตูหวังเป็นอัครสถานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จะถูกมองเป็นอื่นไมได้นอกเสียจากเรื่องอันน่าอับอายยิ่งนัก หมดแล้วซึ่งความภาคภูมิใจขององค์กรและประเทศชาติ

ซ้ำร้ายและยิ่งน่าอับอายไปกว่านั้น ทอท.กล้าดีอย่างไรถึงได้พังทลายแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่ทอท.เองลงทุนจ้างบริษัทที่ปรึกษาเมืองนอกเมืองนาด้วยราคาแสนแพงจนไม่เหลือซาก เป็นการประจานการบริหารจัดการสุดอัปยศเพียงแค่ผลประโยชน์บังตา?

แล้วทอท.กล้าดีอย่างไรที่จะประกาศให้สังคมโลกรับทราบว่าสนามบินแห่งนี้เป็นหน้าเป็นตาของประชาชนคนไทย ที่นำเสนอสิ่งก่อสร้างที่อุดมด้วยข้อกังขานำมาซึ่งความสง่างามและภาคภูมิใจ 

…หรือนี่แค่สิ่งก่อสร้างแบบลูบหน้าปะจมูกเพียงเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เฉพาะหน้าของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง?