รฟท.จับมือ EEC เปิดเวที Q&A ครั้งที่ 2 รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

0
191

รฟท.จับมือ EEC เปิดเวที Q&A ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อ 3 สนามบิน ชี้เปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อเสนอแนะ-คำถามได้จนถึง 9 ต.ค.61ก่อนเปิดให้ยื่นข้อเสนอ 12 พ.ย. 61 เวลา 09.00 – 15.00 น.

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) นี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเชื่อมโยงเดินทางของผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ท่องเที่ยวให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อันจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก รวมทั้งเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนนและทางเรือได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา รฟท. ได้จัดการประชุมชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้น
จึงเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเอกสารได้ส่งคำถาม หรือข้อสงสัยต่างๆ เข้ามา เพื่อรวบรวม ประเด็นทั้งหมด และนำมาชี้แจงให้ความกระจ่าง ซึ่งปรากกว่ามีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมาถึง 626 คำถาม โดยมีประเด็นที่หลากหลาย ทั้งด้านการเงินการลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง การเดินรถ รวมไปถึงข้อกำหนดของ รฟท. ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี งานโยธา งานระบบรถไฟ และเทคโนโลยีต่างๆ
โดยภายหลังจากงานวันนี้ รฟท. ยังจะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนตลอดจนตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 – 15.00 น.

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะถือเป็นมิติใหม่ในการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในเวทีโลกและร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต