หลังกลุ่มทุนพลังงานที่ได้ชื่อว่าเป็น“ท่อน้ำเลี้ยง”หลักของพรรคการเมืองใหม่ที่กำลังใช้พลังดูดสิบทิศเดินหมากสานฝันให้“บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” สืบทอดอำนาจอีกสมัย ชนิดทำอย่างไรก็ได้ Thailand Only ซะอย่าง!
ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนพลังงานรายนี้ ยังเดินเกม “กินรวบ”พลังงานไทยชนิดที่วินาทีนี้ไม่มีใครกล้าสอดมือเข้ามาขวาง แม้แต่รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)เอง ในวันนี้ยังระส่ำ เส้นทางสยายปีกขยายกิจการ ที่จะให้บริษัทลูก “จีพีเอสซี” เข้าซื้อหุ้นใหญ่ 69% ในบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW)ถูกขวางสิบทิศ อ้างก่อให้เกิดการผูกขาดพลังงาน
แม้แต่เส้นทางการปรับโครงสร้างองค์กรปตท.ใหม่แยกทรัพย์สินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกจากกัน โดยมีแผนจะนำปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัดหรือ “พีทีทีโออาร์” เข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในต้นปีหน้า 2562 และมีแผนสยายปีก “กาแฟอเมซอน” ออกไปตั้งเป็น”Stand Alone”นอกสถานีบริการน้ำมัน ปตท. รวมทั้งมีแผนขยายการทำธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน วันนี้ยังถูกตั้งคำถามเป็นการดำเนินการที่ขัดบทบัญญัตรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซีอีโอปตท.โต้ผูกขาดพลังงาน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไปวันวานว่า การตัดสินใจเข้าซื้อโกลว์พลังงานนั้น เป็นไปตามเป้าหมายของปตท. เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล
แม้ว่าก่อนหน้านี้โกลว์จะเจรจากับหลายๆ บริษัทในประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ได้้ข้อสรุปที่ ปตท. เพราะมีธุรกิจพลังงานที่ใกล้เคียงกัน มีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเหมือนกัน และต้ังบริเวณใกล้เคียงกันสามารถใช้สาธารณูปโภค หรือเครื่องจักรร่วมกันได้ และท้ัง 2 บริษัทก็แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบและยืนยันว่า ไม่มีการผูกขาดกิจการ หรืออำนาจเหนือตลาดแต่อย่างใด โดยหากจีพีเอสซีซื้อโกลว์แล้วเสร็จ จะส่งผลให้จีพีเอสซีเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,835 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่มี 1,940 เมกะวัตต์
“หากสามารถซื้อกิจการจากโกลว์ได้สำเร็จ ก็เท่ากับเป็นการผลิตไฟฟ้าป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุด และรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ท้ังหมดตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟตกไฟดับ และปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็แทบไม่เหลือขายเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แต่อย่างใด”
บอนไซ ปตท….เข้าทางทุนพลังงาน
ขณะที่วงในพลังงานได้ตั้งข้อสังเกตถึงการขับเคลื่อนของรองหัวหน้าพรรค ปชป.ต่อการขัดวางการเข้าซื้อหุ้นโกลว์ พลังงาน ในครั้งนี้ว่า ไม่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ “วงศ์วานว่านเครือ” ตนเองที่นั่งเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทซึ่งหากเกิดการควบรวมกิจการแล้วก็เชื่อแน่ว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารชุดใหญาตามมา
แต่เป้าหมายหลักในการขวางเส้นทางฮุบโกลว์พลังงานของเครือปตท.ในครั้งนี้ ยังสอดรับการที่ทุนพลังงานยักษ์ที่กำลังเดินเกมอย่างสุดลิ่มเพื่อสกัดเส้นทางโตของ ปตท. ที่กำลังหายใจรดต้นคอตนเองอีกด้วย โดยเฉพาะหลังจากล่าสุด ปตท.ได้รับไฟเขียวให้นำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตันเพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้า ในขณะที่กลุ่มทุนพลังงานที่ถูก กกพ.กระตุกเบรกใบอนุญาตนำเข้าก่อนหน้านั้น ก็มีแนวโน้มที่จะเร่งเคลียร์หน้าเสื่อกันในเร็ววันนี้
ปชป.กับคำถาม “บอนไซ ปตท.”
น่าแปลก! ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป.ออกโรงขวางสุดลิ่มกับกรณที่บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี หรือ “จีพีเอสซี” จะเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานด้วยข้ออ้างก่อให้เกิดการผูกขาด จากการที่ “จีพีเอสซี” “จีพีเอสซี” จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 4,800 เมกกะวัตต์ ทำให้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง จนทำให้นักลงทุนไทย-เทศพากันอกส่ันขวัญแขวน จึงจำเป็นต้องออกโรงขัดขวางเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ได้ลงมาตรวจสอบ
แต่กับกรณีที่กลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่รุกคืบ “กินรวบ”พลังงานของประเทศ ท้ังโรงไฟฟ้าไอพีพี และเอสพีพี มีกำลังผลิตไฟในมือรวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ทั้งยังรุกคืบขอเป็นผู้นำเข้าปิโตรเลียมเหลว LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของตนเองและโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ซ่ึงก็ดูจะได้รับการสนองตอบจากกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ชุดใหม่ไปแล้วนั้น กลับไม่เห็นคนของพรรคปชป.จะอินังขังขอบอะไร
มิหนำซ้ำก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ยังสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ จัดสร้างระบบสายส่งขนาด 500 KVมูลค่ากว่า 7,250 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่รายหนึ่งเป็นจำนวนถึง 5,000 เมกะวัตต์จากพื้นที่อำเภอปลวกแดง โดยต้องลากสายส่งมายังโรงไฟฟ้าบางประกง 2 ระยะทางกว่า 90 กม. เพื่อรองรับการจ่ายไฟในภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)ในปี 2564-2569
กรณีเช่นนี้ พรรคปชป.ไม่คิดจะตรวจสอบเบื้องหน้า เบื้องหลังกันบ้างหรืออย่างไร
เพราะมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนัก เหตุใดรัฐบาลถึงต้องให้กฟผ.ควักเงินลงทุนถึง 7,250 ล้านบาทไปเกื้อหนุนบริษัทเอกชน ในเมื่อช่วงที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่(ไอพีพี )ระยะ 3 จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ในปี 2556 นั้น
ในครั้งนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเองที่ส่งบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด เข้าร่วมซื้อซองประมูลด้วย รวมทั้งบริษัท ปตท.เองที่ส่งบริษัทลูกเข้าร่วมซื้อซองประมูลด้วย แต่เมื่อถึงกำหนดเวลากลับถอนตัวออกไปทั้งที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ)ไปแล้ว ด้วยข้ออ้างพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่อยู่ในแนวท่อก๊าซปตท. และระบบสายส่ง กฟผ.ตามเงื่อนไขทีโออาร์ จึงมีความเสี่ยงสูงหากจะเข้าประมูล แต่เบื้องหลังนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมีใบสั่งให้ถอนตัว
(ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/503230 )
แล้วเหตุใดวันนี้ รัฐบาลและกระทรวงพลังงานกลับไฟเขียวให้ กฟผ.จัดสร้างระบบสายส่งวงเงินกว่า 7,250 ล้านเพื่อรองรับการซื้อไฟจากบริษัทเอกชนรายนี้เอาได้ กรณีเช่นนี้ไม่ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่พรรคการเมืองอย่างปชป. หรือเครือข่ายเอ็นจีโอทั้งหลายสมควรจะร่วมกันตรวจสอบหรืออย่างไร!!!
“หากมติครม.ข้างต้นเป็นของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปชป.หรือเครือข่ายเอ็นจีโอทั้งหลาย ตลอดจนหน่วยงานตรวจสอบทุจริตทั้งหลายจะนิ่งเฉยปล่อยเลยตามเลยเช่นนี้หรือไม่”
ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใคร?
กับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะได้เห็นการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของโครงสร้าง “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)” และ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) “ ที่ยังมีความลักลั่น ต่างคนต่างเดิน และไม่รู้ว่าอำนาจที่แท้จริงนั้นควรจะอยู่ที่องค์กรใดกันแน่
รวมทั้งในเรื่องของ ระบบซื้อขายไฟฟ้าในบ้านเรา ที่วันนี้ยังคงเป็นระบบ Monopoly เป็นระบบ Single Buyer ที่ถูกผูกขาดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่ผู้เดียว ผู้ผลิตไฟฟ้าจะไอพีพี เอสพีพี หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล โซลาร์รูฟท็อป ทั้งหลายแหล่จะผลิตกันออกมามากน้อยอย่างไร เมื่อจะต้องส่งไฟไปขายต่างพื้นที่จะต้องพึ่งพิงระบบสายส่ง กฟผ. ยังไม่มีการเปิดเสรีแบบโครงข่ายสื่อสาร อินเตอร์เน็ต หรือมือถือที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจากรายใดก็ได้
แต่สิ่งที่เห็นและเป็นไปนั้น กระทรวงพลังงานกลับยังคงเล่นเอาเถิดกับนโยบายโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ที่ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเผชิญวิกฤติไฟฟ้ามากที่สุดจากความต้องการใช้ไฟที่มีมากกว่า 2,600 เมกะวัตต์มากกว่ากำลังผลิตที่มีคือ 2,000 เมกะวัตต์ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สำเร็จเสียที แม้จะบรรจุเอาไว้ในทุกแผนจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาเป็น 10 ปี
แทนที่รัฐมนตรีพลังงานที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจจะสั่งเดินหน้าโครงการที่คาราคาซังมาเป็นสิบปีนี้ให้สำเร็จลุล่วง สิ่งที่เห็นและเป็นไปกลับกลายเป็นการ “ปิดประตูลั่นดาล“โรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปโดยสิ้นเชิง โดยรมต.พลังงานได้สั่งให้กระทรวงพลังงานตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งเท่ากับกลับไปเริ่มต้นศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาตใต้ใหม่ยกกระบิ
ท่ามกลางข้อกังขาอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ รัฐมนตรีพลังงาน“หักดิบ”โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในแผนจัดหาและพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(พีดีพี) ในทุกชุดลงไปได้
ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงพลังงานยังหันไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจากขยะอย่างออกหน้าออกตา หลังจากก่อนหน้านี้ มีกระแสอื้อฉาวลูกนักการเมืองใหญ่ในรัฐบาลคสช.รับหน้าเสื่อเคลียร์สิบทิศ จัดหาปริมาณขยะป้อนให้แก่ท้องถ่ิน หรือกลุ่มทุนที่ต้องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นท่ีต่างๆ ท่ัวภาคใต้จนถึงขนาดมีกระแข่าว “เมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท” ออกมากันอย่างหนาหู
ล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ออกมาแบไต๋อย่างชัดเจนแล้วว่า กระทรวงพลังงานจะสรุปร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2018 ) ปี พ.ศ. 2561-80 ให้เสร็จภายในกันยายนนี้ จากนั้นจะสรุปเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ต่อไป โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนนั้นยอมรับว่า มีความจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการกำจัดขยะเป็นหลัก อย่างไรก็ตามปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนจะเพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ส่วนจะเพิ่มอีกปรมาณเท่าใดนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับกระทรวงหาดไทย แต่ไม่ว่าจะเพิ่มการรับซื้อไปมากน้อยเพียงใด กระทรวงพลังงานจะยังคงดูแลต้นทุนค่าไฟที่จะรับซื้อไม่สูงไปกว่าราคาที่เคยรับซื้อ FiT ที่ 5.78 บาทต่อหน่วยอย่างแน่นอน
กับชะตากรรมพลังงานของประเทศ และโดยเฉพาะบริษัทพลังงานชาติอย่าง ปตท.ที่กำลังถูกบอนไซรอบด้านเวลานี้ คงต้องย้อนถามไปยังจุดยืนของ รมว.พลังงานวันนี้ จะเลือกปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือของบริษัทเอกชน “ทุนพลังงาน” ที่มีกระแสลือหนาหูว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามเร่ง “ปิดดีล”ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในต้นปีหน้า
บอกตามตรง เรายังไม่เห็น รมว.กระทรวงพลังงานจะได้แสดงจุดยืนอะไรที่ชี้ให้เห็นว่าได้ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก!!!