กสทช. รุดถก สช.อาเซียน ไล่เบี้ยเก็บภาษี “เฟซบุ๊ก – ยูทูป “

0
126

กสทช. รับหน้าเสื่อหารือชาติสมาชิกอาเซียนหาช่องเก็บภาษีออนไลน์ยักษ์โซเชียลเฟซบุ๊ก-ยูทูปชี้หากพลิกช่องจัดเก็บไม่ได้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจ่อตายเป็นเบือและลุกลามเศรษฐกิจทั่วโลกแน่ เพราะแต่ละประเทศเก็บภาษีไม่ได้ไม่มีเงินพัฒนาประเทศ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานการประชุมเชิงวิชาการ International Symposium on Converging Technologies and Disruptive Communications – Moving Forward ว่า จากการหลอมรวมของเทคโนโลยีทำให้เกิดผลกระทบในหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทีวีเชื่อว่าทุกประเทศกำลังศึกษาผลกระทบจากธุรกิจ OTT : Over The Top ที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นรายได้ของประเทศได้ ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะอาเซียน แต่มีประเทศทั่วโลกมาร่วมประชุมด้วย

ดังนั้น กสทช. จึงนำผลกระทบที่เกิดขึ้นจากธุรกิจโอทีทีมาแบ่งปันเพื่อขอความร่วมมือจากทั่วโลกว่า หากไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา จะส่งผลลุกลามต่อเศรษฐกิจโลกแน่ เพราะผู้ประกอบการรายเล็กอาจต้องปิดกิจการและเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะลดลงตามไปด้วย

ในเร็วๆ นี้ กสทช. จะนำเรื่องการจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจ OTT ที่เป็น Facebook (เฟซบุ๊ก) และ YouTube (ยูทูป) มาหารือในที่ประชุมองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์ของอาเซียนซึ่งจะมีการประชุมในปลายปีนี้ที่ประเทศไทย โดย กสทช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษี ซึ่งคงต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างอาเซียน

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กสทช. อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมการจัดเก็บภาษีค้าขายออนไลน์ ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีกับผู้ค้าขายในประเทศเป็นหลัก แต่การค้าขายออนไลน์ผ่านธุรกิจโอทีที ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เชื่อว่าทุกประเทศ ประสบปัญหาไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากเฟซบุ๊กและยูทูป ทั้งๆ ที่เข้ามาให้บริการ และหาเงินจากคนในประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ได้เงินโฆษณาน้อยลง ดังนั้นผมจะนำเรื่องนี้ไปหารือในกลุ่มอาเซียน และส่งสัญญาณให้ประเทศทั่วโลกรับรู้ด้วยว่า หากแต่ละประเทศไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากเฟซบุ๊ก และยูทูบได้ รวมถึงการค้าขายออนไลน์ด้วยนั้น จะกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และลุกลามไปทั่วโลก เพราะธุรกิจรายเล็กก็ต้องล้มหายไป ต้อง ปิดกิจการไป ทำให้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากก็จะไม่มี เหมือนทุกวันนี้ที่บอกว่าสินค้าหน้าร้านขายไม่ได้ ๆ แต่ยอดขายออนไลน์พุ่งกระฉูดมาก

ส่วน กสทช. ก็ต้องหาแนวทางในการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นรายได้ของประเทศ เมื่อมาลงทุนในประเทศไทย มีรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยด้วย เช่นกันกับประเทศในอาเซียน และประเทศทั่วโลก เมื่อไปลงทุนในประเทศนั้น ก็ต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้นๆ ด้วย เพราะแต่ละประเทศ จะนำเงินภาษี ไปพัฒนาประเทศ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของตัวเอง หากไม่มีการจัดเก็บภาษี ระบบเศรษฐกิจของโลกก็เสียหาย เพราะฉะนั้นไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจโลก ถูกกำหนด ถูกกำกับ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกไม่กี่บริษัท