1 ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐใน “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “อีอีซี” ที่รัฐบาล คสช.ตีปี๊บจะเป็นโครงการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่และเป็นปฐมบทโครงการลงทุนในอีอีซี
นั่นคือ “โครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)” ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดให้เอกชนที่สนใจซื้อเอกสารการประมูลไปเดือนก่อน และมีกำหนดจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 นี้
ด้วยเงื่อนไขการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มีระยะเวลาสัมปทานถึง 50 ปี โดยที่ภาครัฐจะร่วมลงทุนด้วยภายใต้วงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ขณะที่ผู้ร่วมทุนภาคเอกชนจะรับสัมปทาน ทั้งการก่อสร้าง จัดหาระบบการเดินรถ และยังได้สิทธิ์พัฒนาที่ดินอีกหลายผืน รวมถึงสิทธิในการเดินรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงก์” แถมพกไปด้วยอีก!
เป็นเงื่อนไขการลงทุนที่กล่าวได้ว่า “เกิดอีก 10 ชาติ ก็หาไม่ได้อีกแล้วใน 3 โลก” จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศจะเปิดหน้าพร้อมเข้าร่วมชิงดำสัมปทาน “ไฮสปีดเทรน” ครั้งประวัติศาสตร์นี้กันอย่างคึกคัก โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาซื้อซองประมูลไปถึง 31 ราย และคาดว่าเมื่อถึงกำหนดยื่นซองประกวดราคานั้นน่าจะมีการรวมกลุ่มเข้ายื่นข้อเสนอไม่ต่ำกว่า 6-8 ราย
แต่ละรายที่เปิดหน้ากันออกมา ล้วนแล้วแต่ “บิ๊กเนม” ทุนหนาแบ๊คอัพปึ๊กด้วยกันทั้งสิ้น!!!
ไล่ดะมาตั้งแต่ “เครือ ซี.พี.” ของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่เปิดหน้าแสดงความสนใจโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น และถึงขั้นที่เจ้าสัวธนินทร์ต้องออกโรงด้วยตนเอง
ตามมาด้วยกลุ่ม “บีทีเอส กรุ๊ป” ของนายคีรี กาญจนพาสน์, กลุ่มชิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง , กลุ่ม ช.การช่าง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) , กลุ่มเซ็นทรัล และที่เปิดหน้าออกมาล่าสุด “เจ้าสัวเปรมชัย – เสือดำ” อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ และ “เจ้าสัวประชัย เลี่ยวไพรัตน์” แห่งทีพีไอโพลีน ที่ประกาศพร้อมเป็น “ลีดเดอร์” ขณะที่ทุนต่างประเทศที่กระโจนเข้าร่วมซื้อซองประมูลไปนั้นก็มีทั้ง จีน ญี่ปุ่น ฝรั่เศส และแม้แต่เกาหลีใต้
แต่เส้นทางการชิงดำสัมปทานลงทุน “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบินจะโรยไว้ด้วย “กลีบกุหลาบ” เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดหวัง หรือจะกลายเป็นเวทีเกทับวัด “แบ๊คอัพทางการเมือง” จนลากโครงการไปเผชิญทางตัน ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
********
ปัดให้สิทธิประโยชน์ดีสุดใน 3 โลก
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ย้อนรอยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) นี้ว่า เป็นโครงการที่ปรับปรุงมาจาก “รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ระยอง)” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และผู้โดยสาร 3 สนามบิน
“การเชื่อม 3 สนามบินดังกล่าว ก็เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาแบ่งเบาภาระของสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ที่เชื่อว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 89 ล้านคน โดยผู้โดยสารทั้งสามสนามบินไม่ต้องหยุดเปลี่ยนขบวนรถไฟ และเปลี่ยนวิธีการลงทุน มาเป็นการร่วมทุนกับเอกชน จากเดิมที่ให้รัฐบาลลงทุนเอง หรือกู้เงินมาลงทุน”
นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังควบรวมโครงการ “แอร์พอร์ตลิงค์” เดิม (พญาไท-สุวรรณภูมิ) และ “แอร์พอร์ตลิงค์ส่วนขยาย (ดอนเมือง-พญาไท)” เข้ามาอยู่ในโครงการด้วย และเพิ่มส่วนเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภาเพื่อแก้ปัญหา “หลายโครงการ หลายระบบ หลายผู้ให้บริการ” ซึ่งมักเป็นปัญหาของการต่อเชื่อมระบบราง
“การผนวกเอาโครงการแอร์พอร์ตลิงค์เดิมที่มีหนี้ประมาณ 33,000 ล้านบาท และขาดทุนทุกปีๆ ละประมาณ 300 ล้านบาททำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้เต็มที่ จึงให้โครงการร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบินจ่ายค่าสิทธิการบริหารให้การรถไฟฯไปเลยประมาณ 10,000 ล้านบาท(มูลค่าปัจจุบัน) เพราะเชื่อว่าการดำเนินการโดยเอกชนจะไม่ขาดทุน อันจะทำให้แก้ปัญหาหนี้ และการขาดทุนของแอร์พอร์ตลิงค์หมดไป”
เลขาธิการอีอีซี กล่าวยืนยันว่า การที่โครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งไทย-เทศอย่างมาก ไม่ได้เกิดจากรัฐประเคนให้สิทธิประโยชน์จนเกินงาม หรือดีที่สุดใน 3 โลกอย่างที่วิพากษ์กัน แต่น่าจะมาจากหลายๆปัจจัย ทั้งการเปิดกว้างให้กับนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาแข่งขัน โดยรัฐเชื่อว่าการเปิดกว้างดังกล่าวจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับนักลงทุนไทยในการหาผู้ร่วมลงทุนที่มีความสามารถจากทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุน โดยมีบริษัทไทยมีลีดเดอร์ และมีบริษัทต่างชาติชั้นนำที่มีเทคโนโลยี การเงินเข้มแข็งเป็นผู้ร่วมทุน
ขณะที่เงื่อนไขการร่วมลงทุน “พีพีพี” ครั้งนี้ ตั้งอยู่บน 2 พื้นฐาน คือ การให้ผลตอบแทนกับผู้ร่วมทุนที่เหมาะสม โดยโครงการนี้ผลตอบแทนเอกชนอยู่ที่ประมาณ 10.5% เทียบกับ 20-25% ในโครงการอื่นๆในต่างประเทศ ยังไม่นับรวมความเสี่ยงในอนาคตที่เอกชนต้องแบกรับทั้งหมด
ส่วนเกณฑ์การพิจารณาของเรานั้น คงจะพิจารณาเกณฑ์ผู้ร่วมลงทุนกลุ่มไหนเสนอการรับประโยชน์น้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ” สมมติง่ายๆ โครงการนี้ต้องลงทุน 200,000 ล้านบาท รัฐบอกจะลงทุนให้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท เอกชนต้องลงทุนเองอย่างน้อย 100,000 ล้านบาท เมื่อเข้ายื่นข้อเสนอ หากผู้ลงทุนรายแรกเสนอจะลงทุน 110,000 ล้านบาท (เท่ากับรัฐร่วมลงทุน 90,000 ล้านบาท) แต่รายที่สองเสนอจะลงทุน 120,000 ล้านบาท (รัฐลงทุน 80,000 ล้านบาท) รายที่สองก็ชนะไป เพราะทำให้รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุด”
เท่าที่ประเมินไว้ โครงการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 17%หรือกว่า 700,000 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วง 50 ปีแรก 400,000 ล้านบาทที่เกิดจากการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้่ประโยชน์ เป็นสนามบินสำรองทางยุทธศาสตร์ทางการบิน
นอกจากนี้ ยังมีผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ตลอด 2 เส้นทาง รวมทั้งรายได้จากการจัดเก็บภาษี ขณะที่มูลค่าภายหลังสัญญาสัมปทานร่วมทุน 50 ปีไปแล้วโครงการนี้จะตกเป็นของภาครัฐมูลค่าอีกไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท
ศึกช้างชนช้าง “เจ้าสัว ซี.พี. – คีรี BTS”
ในส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักลงทุนนั้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็คือ กลุ่ม ซี.พี. ของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่ล่าสุด เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ลงทุนเชิญผู้บริหารสื่อในเมืองไทยนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวไปดูงานรถไฟฟ้าที่ประเทศจีนด้วยตนเอง พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ของเครือ ซี.พี. ต่อการสนับสนุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินสายนี้
โดยเจ้าสัวธนินทร์ ระบุว่า เป็นการช่วยรัฐบาลในการเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนจากประเทศต่างๆ กับเอกชนของประเทศไทยได้ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ขณะนี้ต้องถือว่าประเทศจีนมีศักยภาพสูงที่สุดในเรื่องของการก่อสร้างระบบราง และรถไฟความเร็วสูงจากความพยายามขยายโครงข่าย One Belt One Road ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขณะเดียว กัน ญี่ปุ่นก็มี บริษัทฮิตาชิ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอาณัติสัญญาณซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือของ JBIC ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น “เรายังไปเชิญผู้มีความเชี่ยวชาญในระบบราง และวิศวกรรมการขนส่งผ่านรัฐบาลของประเทศอิตาลี และฝรั่งเศสเข้ามาร่วมด้วย ที่ผมสนใจอีกรายก็คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเราอาจไปเชิญนักลงทุนของเขาเข้ามา”
“เราไปเชิญรัฐบาลจีน และรัฐบาลญี่ปุ่นให้ส่งบริษัทที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เข้ามาช่วย และก็ได้พบความจริงว่า ทั้งสองประเทศนี้มีความประสงค์อย่างยิ่งยวดที่จะช่วยกันสร้างโครงการนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ทุกฝ่ายต้องการ”
นอกจากนี้ กลุ่มซี.พี. ยังมีแผนที่จะก่อสร้างเมืองใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่กว่า 10,000 ไร่ เพื่อเป็นเมืองรองรับการเชื่อมต่อรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินโดยตรง โดยชูโมเดลที่จะเป็นเมือง Smart City ที่มีความพร้อมมูลและเป็นเมืองตัวอย่างให้คนไทยและรัฐบาลได้เห็นว่ามีความน่าอยู่เพียงไร
“ภายใต้ผังเมืองที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ โดยไม่สร้างมลพิษภายใน ผู้คนสามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในการดำรงชีวิตปกติ ไปทำงาน ไปเรียน หรือ ไปเที่ยว ได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล เมืองแห่งอนาคตนี้ ควรสร้างเป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดต่างๆได้นำไปพัฒนา และปรับเปลี่ยนผังเมืองของตนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมคิดว่า น่าจะต้องมีสัก 3 เมืองด้วยกัน จากฉะเชิงเทรา ควรมีที่พัทยา และระยองซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญมากอีกแห่ง และด้วยโครงสร้างที่ถูกวางแผนให้เมืองแห่งอนาคตนี้ มีแต่อุตสาหกรรมที่สะอาด ปราศจากมลภาวะเป็นพิษ”
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกลุ่ม ซี.พี. ที่ออกตัวแรงจนสร้างแรงกระเพื่อมทางเชิงลบต่อกลุ่มแล้ว อีกกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ BTS Group ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟฟ้ามากกว่า 20 ปี โดยก่อนหน้านั้นมีกระแสข่าวว่า ทางกลุ่ม ซี.พี. ได้มีการเจรจาที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบีทีเอส ในการประมูลโครงการนี้ แต่ในภายหลังต่างฝ่ายต่างหันไปเจรจากับพันธมิตรใหม่ โดยมีกระแสข่าวว่า เนื่องจากทาง ซี.พี.นั้น ยื่นข้อเสนอให้บีทีเอสถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 20-25% เท่านั้น โดยอ้างว่ายังต้องจัดสรรหุ้นไปให้ผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนอีกหลายกลุ่ม ในขณะที่ทางบีทีเอสเห็นว่า ด้วยประสบการณ์และทุนที่ตนเองมีอยู่น่าจะเป็นลีดเดอร์เสียมากกกว่า การจะให้ถือหุ้นเพียง 20-25% โดยไม่มีส่วนในการบริหารโครงการนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และในท้ายที่สุดจึงแยกย้ายกันไปเจรจาหาพันธมิตรใหม่เข้ามา
“แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่า โครงการนี้ ซี.พี.หมายมั่นปั้นมือจะเป็นเจ้าของสัมปทานแบบนอนมา แต่ถึงวินาทีนี้ทุกอย่างไม่แน่ชัดแล้ว เพราะในส่วนของกลุ่มบีทีเอสนั้น ก็ได้พันธมิตรที่ล้วนแต่บิ๊กบึ้ม ไม่ว่าจะเป็นยักษ์รับเหมาอย่างกลุ่มชิโน-ไทย , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราบุรี โฮลดิ้ง และบริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ บริษัทลูกของ ปตท. ซึ่งล้วนมีทั้งประสบการณ์และทุนที่แข็งแกร่ง ขณะที่กลุ่มซี.พี.นั้นมีกลุ่มทุนจีนอย่าง ไชน่า เรลเวย์คอนสตรัคชั่น และซิติก กรุ๊ปเป็นหลัก ซึ่งหากเทียบฟอร์มกันแล้ว กลุ่มบีทีเอสออกจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ยังมี กลุ่ม ช.การช่าง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM และกลุ่มรับเหมายักษ์ อย่าง อิตาเลียนไทย -ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง ที่ล้วนมีประสบการณ์ในการรับเหมางานก่อสร้างมาทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มทุนเหล่านี้เชื่อแน่ว่าคงหาทางจับมือกับ 2- 3 กลุ่มแรกเป็นหลัก เพราะในเมืองไทยนั้น นอกจาก BEM ของ ช.การช่าง และบีทีเอส แล้ว ก็ไม่มีกลุ่มทุนรายใดมีประสบการณ์ในการบริหารโครงข่ายรถไฟฟ้าได้เทียบเท่า
เส้นทางการชิงดำสัมปทานลงทุน “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบินจะโรยไว้ด้วย “กลีบกุหลาบ” เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดหวัง หรือจะกลายเป็นเวทีเกทับวัด “แบ๊คอัพทางการเมือง” จนลากโครงการไปเผชิญทางตัน ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป