ตามติด e-Payment การท่าเรือฯ

0
1654

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนมากขึ้น นำมาไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และภาคสังคมอื่นๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยภายใต้การบริหารงานรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี ได้เร่งเครื่องปฏิรูปประเทศในทุกมิติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้นโยบายThailand 4.0”

ผลพวงจากแนวนโยบาย Digital Economy ทำให้ทุกภาคส่วนยึดถือเป็นแนวทางแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ก้าวทันโลกยุคปัจจุบัน เพื่อการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและการบริการผ่านทางนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

เช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม ที่ล่าสุด ได้ขานรับนโยบายThailand 4.0 ของรัฐบาลในการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเงินก้าวสู่ความเป็น Digital Economy ด้วยการนำระบบ e-Payment  มาใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าภาระตู้สินค้าขาออก และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าขาออก ณ ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันออกของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) หวังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายใบกำกับภาษีฯ ลดปัญหาซ้ำซ้อนขั้นตอนการให้บริการ-ลดปัญหาจราจรติดขัดภายในและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้บริการดีเดย์เปิดให้บริการ 15 ก.ย.61 นี้เป็นต้นไป

กทท.มุ่งเน้าสู่ e-Port ได้มาตรฐานสากล

นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้สนองนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเงินเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่ความเป็น Digital Economy โดยพัฒนาระบบการชำระค่าภาระสินค้าและค่าบริการเงินเชื่อออนไลน์ผ่านธนาคารพาณิชย์ต่างๆ (e-Payment) เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ (เงินเชื่อ) ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดการชำระเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันทีอันเป็นการลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาอีกทางหนึ่ง

“ระบบการชำระค่าภาระสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่กทท.ได้นำร่องให้บริการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ค่าบริการเรือลากจูง ค่าเช่าเครื่องมือทุ่นแรง ค่าภาระผ่านท่า ค่าเช่าพื้นที่วางตู้สินค้า เป็นต้น นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการบริการที่สำคัญของ กทท. ในการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มศักยภาพในการบริหารงานแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็น e-Port หรือท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีระบบการดำเนินงานที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล โดยรูปแบบการให้บริการชำระค่าภาระเงินเชื่อด้วยการหักบัญชีธนาคาร (Direct Debit) สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบคำขอใช้บริการได้ที่ www.port.co.th”

ดีเดย์บริการ e-Payment  ตู้สินค้าขาออก 15 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ระบุอีกว่าล่าสุดกทท.จะนำระบบ e-Payment  มาใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าภาระตู้สินค้าขาออก และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าขาออก ณ ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันออกของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.)

“จากเดิมจะเก็บตามประเภทยานพาหนะเปลี่ยนเป็นเก็บตามขนาดตู้สินค้า และค่าภาระยกตู้สินค้า ค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าบริการชั่งตู้สินค้าขาออก ผู้ส่งออกหรือตัวแทนผู้ส่งออกสามารถชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในคราวเดียวกัน ก่อนนำตู้เข้าเขตศุลกากรของ ทกท. และการขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทำได้สะดวกด้วยการนำใบเสร็จชั่วคราวรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) มาติดต่อขอรับได้ที่จุดให้บริการที่เดิม บริเวณประตูตรวจสอบเขื่อนตะวันออก”

โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 15 กันยายน 2561 นี้ ซึ่งการทดลองใช้ในช่วง 6 เดือนแรก ท่าเรือกรุงเทพ จะให้บริการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วยระบบเดิ และระบบ e-Payment ควบคู่กันไป โดยการท่าเรือฯ จะออกใบเสร็จแบบย่อ ผู้ใช้บริการสามารถพิมพ์ได้เอง หลังจากทำรายการ e-Payment ผู้ใช้บริการสามารถนำมารับใบเสร็จตัวจริงได้ที่ Main Gate ท่าเรือกรุงเทพ

“ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ท่าเรือกรุงเทพ จะเพิ่มธนาคารทางเลือกที่จะให้บริการรับชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น โดยจะดำเนินการประสานกรมสรรพากร เพื่อเปลี่ยนรูปแบบใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากกระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป”

ขานรับนโยบาย Thailand 4.0

อย่างไรก็ดี นายโกมล เปิดเผยถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของโครงการพัฒนาระบบ e-Payment นี้ว่าถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) ตามนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม โดยใช้ระบบ IT ในการบริหารจัดการ โดยการจัดส่งข้อมูลของลูกค้าจะอยู่ในระบบดิจิตอลทั้งหมด เป็นการลดขั้นตอนในการทำพิธีการตู้สินค้าขาออกที่ผู้ใช้บริการจะต้องนำตู้สินค้าผ่านประตูหลัก (Main Gate) เข้าไปในเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ

“จากเดิมผู้ใช้บริการต้องเตรียมชำระอัตราค่าธรรมเนียมพาหนะผ่านท่า และอัตราค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือฯ ตรวจและรับชำระเงินหน้าประตู ซึ่งอาจเกิดปัญหาจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนการนำระบบ  e-Payment จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดเอกสารและประหยัดเวลา โดยผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลพิธีการตู้สินค้าขาออกลงในระบบ NSW (National Single Window) ได้ในทุกที่ที่มีโปรแกรมการใช้งาน โดยข้อมูลดังกล่าว จะผนวกรวมกับใบกำกับการขนย้ายสินค้าของกรมศุลกากร พร้อมเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงให้กับระบบ e-Payment”

ซึ่งรถบรรทุกตู้สินค้าจะสามารถสแกนข้อมูลและผ่านเข้าประตูหลัก โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดรอเพื่อชำระเงินหรือตรวจประเภทรถและตรวจสอบใบเสร็จผู้ใช้บริการเพียงบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและหมายเลขตู้สินค้า ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลบริษัทฯ จากระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับระบบ CTMS เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณค่ายานพาหนะผ่านท่า ค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ (Lift Off Charges) และค่าชั่งน้ำหนักตู้สินค้าแบบเบ็ดเสร็จ

ก้าวสำคัญสู่ความเป็น Digital Economy

สำหรับขั้นตอนผู้ใช้บริการที่ชำระด้วยระบบ e-Payment นั้น ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ระบุว่าสามารถข้าไปดาวน์โหลดแบบคำขอใช้บริการได้ที่ www.port.co.th เพื่อลงทะเบียนสมัครใช้งานระบบ (ทำเพียงครั้งเดียว) จากนั้นก็สมัครห้กบัญชีเพื่อชำระค่าส่งสินค้าและบริการ CGP e-Payment ได้ที่ธนาคาร

“กรณีเป็นตู้สินค้าขาออกให้ผู้ใช้บริการนำส่งข้อมูลตู้สินค้าขาออกผ่าน NSW จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงิน e-Payment แล้วรับใบเสร็จรับเงินชั่วคราว (R Code)จากนั้นนำตู้สินค้าขาออกผ่านประตูตรวจสอบเขื่อนตะวันออกช่อง e-Payment จากนั้นนำตู้สินค้าขาออกผ่านประตูตรวจสอบ Terminal ได้ทุกช่องทาง และขั้นตอนสุดท้ายให้ขอรับใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบด้วย QR Code ที่ประตูตรวจสอบเขื่อนตะวันออก(ที่เดิม) ส่วนกรณีเป็นตู้เปล่า ให้ผู้ใช้บริการนำส่งข้อมูลตู้สินค้าเปล่าให้กับทางทกท. จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการชำระรับใบเสร็จรับเงินชั่วคราว (R Code) แล้วนำตู้สินค้าเปล่าผ่านประตูตรวจสอบเขื่อนตะวันออกช่อง e-Payment จากนั้นนำตู้สินค้าเปล่าผ่านประตูตรวจสอบ Terminal หรือประตูตรวจสอบลานตู้เปล่า และขั้นตอนสุดท้ายให้ขอรับใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบด้วย QR Code ที่ประตู้ตรวจสอบเขื่อนตะวันออก(ที่เดิม)”

อย่างไรก็ดี นายโกมล กล่าวสรุปปิดท้ายว่าการให้บริการดังกล่าวนี้ ถิอเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกทท.ที่เดินหน้าสนองรับนโยบาบรัฐบาลการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเงินเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่ความเป็น Digital Economy

“การเปิดบริการชำระเงิน e-Payment เป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินสำหรับผู้ใช้บริการ นอกเหนือเป้าหมายในมุมของทางกทท.ที่เป็นการช่วยลดต้นทุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายใบกำกับภาษีฯ-พนักงาน ยังช่วยลดขั้นตอนการให้บริการ ลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าประตู อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร ขณะที่มุมผู้ใช้บริการก็ยังได้รับประโยชน์ด้านการลดต้นทุนในการดำเนินการ และได้กับการบริการที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

บริบทสุดท้ายแล้ว การเดินหน้าพัฒนาด้านการบริการของกทท.ครั้งนี้ นอกเหนือสะท้อนให้เห็นถึงเดินหน้าการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรมโดยใช้ระบบ IT ในการบริหารจัดการแล้ว

อีกฟากหนึ่งยัเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนชัดชัดถึงการบูรณาการด้านการวางแผนและการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศอันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้มีมาตรฐานระดับสากลได้เป็นอย่างดี