ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยที่มีศักยภาพในการให้บริการระหว่างประเทศไม่ถึงร้อยละ 15 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังมีข้อจำกัดในด้านขององค์ความรู้ รวมทั้งยังขาดความชำนาญในการบริหารจัดการธุรกิจภายในองค์กร ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร เพราะหากองค์กรใดมีการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดี ย่อมส่งผลให้สามารถลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า รวมไปถึงสามารถก้าวสู่สนามการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายให้เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ในปีพ.ศ.2564โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์มาอย่างต่อเนื่องโดยได้จัดโครงการประกวด “รางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์”(Excellent Logistics Management Award : ELMA)เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสามารถเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการรายอื่นได้
“ELMA เป็นรางวัลที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 นับเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทย และยังเป็นรางวัลที่แสดงถึงมาตรฐานที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของกรมฯ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมสากล และเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าระดับโลก” นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงรางวัล ELMA
ทั้งนี้ ก่อนที่ทางกรมฯจะมีการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการรายใดนั้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะตรวจประเมินและพิจารณาอย่างเข้มข้นตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็น วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบริษัทที่ต้องมีความชัดเจนและโดดเด่น การจัดทำแผนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ที่สามารถปฏิบัติได้จริง การดูแลลูกค้าและการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร นอกจากนี้ยังพิจารณาในเรื่องการให้ความสำคัญกับพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้ทำให้ได้ผู้ที่มีความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างแท้จริง โดยผู้ประกอบการสามารถนำคำแนะนำของคณะกรรมการไปพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนองค์กรให้แข็งแกร่งในอนาคต
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ บริษัท ไทยสมเด็จ เซอร์วิส จำกัด ได้รับรางวัลในสาขาตัวแทนออกของ (Customs Brokerage Service) และบริษัท กรุงเทพคลังเอกสาร จำกัด ได้รับรางวัลในสาขาผู้ให้บริการคลังสินค้า (Warehousing Service) จากที่มีการประกวดทั้งหมด 4 สาขา นับว่าในปีนี้การมอบรางวัล ELMA มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์การประเมินและได้รับรางวัลเพียงปีละ 1 รายเท่านั้น
ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ELMA 2018 เปิดใจถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งทั้ง 2 ราย ต่างเห็นว่าเป็นรางวัลที่สำคัญและเป็นมาตรฐานสากลซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ การเข้าร่วมประกวดยังทำให้ได้รับคำแนะนำที่ดีจากทีมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรได้ในอนาคต
นายวิสาร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมเด็จ เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการด้านพิธีการศุลกากรมากว่า 48 ปี กล่าวว่า บริษัทฯได้เข้าประกวดรางวัล ELMA มาตั้งแต่ปี2558 ซึ่งในการประกวดแต่ละปี ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการในการพัฒนาองค์กรด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการธุรกิจทำให้ทราบถึงจุดเด่นที่บริษัทฯ ทำได้ดีอยู่แล้วและสิ่งที่บริษัทฯ ยังต้องพัฒนาเพิ่ม การได้รับมุมมองจากคนที่อยู่ภายนอกองค์กรนับว่าเป็นข้อดี เพราะจะช่วยสะท้อนให้เราทราบถึงจุดอ่อนที่อาจจะมองไม่เห็น
หากถามถึงความโดดเด่นในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งนับว่าเป็นจุดแข็งและได้เปรียบผู้ให้บริการรายอื่นจนทำให้ได้รับรางวัลนั่นคือ การนำเทคโนโลยี Intelligent Customs Clearance Technology (ICCT) มาใช้ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้คิดค้นซอฟต์แวร์ขึ้นเอง ทำให้สามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านพิธีการศุลกากรเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนของบริษัทฯ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซซึ่งมีสินค้าจำนวนมากที่จะต้องทำเอกสารผ่านศุลกากรการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว นับว่าช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดและทำให้สามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
“รางวัล ELMA นับว่าเป็นรางวัลมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการที่จะได้รับรางวัลนี้จะต้องผ่านการแข่งขันกับตนเอง โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการได้รางวัลมานั้นไม่ยากเท่ากับการรักษารางวัลเอาไว้ สิ่งที่อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประกวดในปีต่อไป คือ ขอให้เตรียมองค์กรของตนเองให้พร้อม และเมื่อได้เข้ามาประกวดแล้ว ขอให้นำคำแนะนำของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปปรับใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ได้ เพื่อจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมประกวด”นายวิสาร กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัล ELMA และฝากถึงผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประกวดในรุ่นต่อไป
ทางด้านนายสุภาพ ตั้งตรัยรัตนกุล กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพคลังเอกสาร จำกัด ผู้ให้บริการเก็บรักษาเอกสารและข้อมูลให้กับองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนมากว่า 23 ปีกล่าวว่า“ปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทฯ เข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลความโดดเด่นของบริษัทฯ อยู่ที่การออกแบบบริการโดยเพิ่ม Value Added Services ด้วยการขยายการบริการไปถึงการรับจัดเก็บและบริหารเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Hosting ด้วยระบบ Livelink Enterprise นับเป็นการออกแบบบริการและใช้เทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ซึ่งเมื่อลูกค้ามีปัญหา จะทำให้สามารถสืบค้นเอกสารและแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่กลุ่มในธุรกิจการเงิน ดังนั้นบริษัทฯจึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในการเก็บรักษาเอกสารอย่างเข้มข้น จึงเป็นที่ไว้วางใจและมีลูกค้าใช้บริการจากบริษัทฯ ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน
“ในส่วนของรางวัล ELMA ที่ได้รับนี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จที่ได้รับและยังเป็นแรงบันดาลใจให้เรามีความมุ่นมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง” นายสุภาพ กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล ELMA
ปิดท้ายด้วยความเห็นจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินายชุมพล สายเชื้อ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและ ผศ.ดร.วรินทร์ วงษ์มณี สถาบันวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกันว่า จากเกณฑ์การประเมินที่เข้มข้นทำให้ได้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัล ELMA ในแต่ละปีนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมขององค์กรในทุกด้าน และค้นหาจุดเด่นของตนเองให้เจอ สิ่งที่สำคัญคือการมีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นรวมทั้งมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่ชัดเจน นอกจากนี้จะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำมาปฏิบัติงานได้จริงนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กรเข้ามาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อชิงความได้เปรียบและสร้างจุดแข็งที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจสามารถก้าวสู่สนามการค้าสากลได้อย่างแข็งแกร่ง
สำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่สนใจเข้าร่วมประกวดรางวัล ELMA ในปีต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02-507-8426 อีเมล:elmaaward@gmail.com