LPI ไทยขยับ 32 ของโลก ความสำเร็จหรือรากเหง้าปัญหา?

0
1086

ภายหลังธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (The Logistics Performance Index: LPI)  ประจำปี 2018 โดยจากการสำรวจ 160 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 32 ดีขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อนในปี 2016 ที่อยู่ที่อันดับ 45 หรือดีขึ้นถึง 13 อันดับ

อีกทั้งอันดับของไทยยังปรับดีขึ้นแซงหน้าประเทศมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 41 ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีคุณภาพของโลจิสติกส์ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 7 และหากจัดอันดับเฉพาะในเอเชียด้วยแล้วไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากญี่ปุ่นอันดับที่ 5 ของโลก สิงคโปร์อันดับที่ 7 ฮ่องกงอันดับที่ 12 เกาหลีใต้อันดับที่ 25 จีนอันดับที่ 26 และไต้หวันอันดับที่ 27

ผลพวงจากการได้รับการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นถึง 13 อันดับนี้ เป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ในแง่มุมไหนอย่างไรบ้าง? ไทยจะได้ประโยชน์อะไร? หรือโอกาสทางการค้าการลงทุนด้านโลจิสติกส์จะสะดวกโยธินกว่าเดิมหรือไม่?

Logistics Time ขอใช้เวทีนี้สะท้อนมุมมองจากกรณีดังกล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.พงษ์ชัย  อธิคมรัตนกุล  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จัดได้ว่าเป็น “กูรู” ด้านโลจิสติกส์เมืองไทยอีกท่านหนึ่ง ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย 92.5 MHz ดังนี้

อันดับ LPI ไทยขยับ32 ของโลก.. เกินคาด!

เบื้องต้น ผศ.ดร.พงษ์ชัย สะท้อนมุมมองถึงการอันดับ LPI ของไทยที่ขยับสูงขึ้นแตะอันดับ 32 ของโลกในปี 2018 นี้ว่าการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (The Logistics Performance Index: LPI) ที่ธนาคารโลกจัดทำครั้งนี้ เป็นการวัดดัชนีศักยภาพในส่วนที่เป็น International Logistics ซึ่งผูกโยงและได้รับแรงหนุนที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกเป็นหลัก ยังไม่คำนึงถึงเนื้อในภายในประเทศมากนัก การขยับสูงขึ้นถึง 13  อันดับนี้ ถือว่าเกินความคาดหมาย

“หากดูจากอันดับของไทยจาก LPI ล่าสุดครั้งนี้ที่ธนาคารโลกสำรวจทุกๆ 2 ปี  โดยปี 2016 ไทยรั้งอันดับ 45 แต่ปีนี้เราขยับดีขึ้นที่ 32 ถือว่าเกินความคาดหมาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซียเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ที่อันดับ 41 ปีนี้ก็ยังอยู่อันดับเดิม สะท้อนว่ายังไม่ค่อยได้พัฒนาอะไร ส่วนเวียดนามก็ดีกว่ามาเลเซียเช่นกัน เพราะเวียดนามอยู่อันดับที่ 39 ซึ่งเป็นอันดับเดิมเมื่อปี 2016”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พงษ์ชัย  กล่าวอีกว่าหากจะถามว่าผลครั้งนี้ได้รับอานิสงส์จากการทุ่มลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ โครงการอีอีซี หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น ผมมองว่ายังไม่ใช่ เพราะทั้ง 3 โครงการยังไม่ได้ก่อสร้างเต็มรูปแบบ แต่หากรุกหน้าเต็มรูปแบบอันดับก็น่าดีกว่านี้ โดยเฉพาะในส่วนที่ 2 ซึ่ง LPI นี้เขาจะวัดทั้งหมด 6 ด้าน ซึ่งด้านที่ 2 จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดูจากทั้งจากท่าอากาศยาน ถนน และรถไฟ ที่เชื่อมต่อมายังประตูทางออกประเทศที่มีการนำเข้าส่งออก

โอกาสดีต่อไทย แต่ต้อง…พัฒนาต่อเนื่อง

ประโยชน์อะไรบ้างที่ไทยจะรับอานิสงส์จากจัดอันดับนี้นั้น ผศ.ดร.พงษ์ชัย  ไขคำตอบว่าส่วนตัวยังมองว่าได้รับประโยชน์ในหลายๆด้านแน่นอน อย่างเช่นดัชนีที่ชี้วัดในหมวดพิธีการศุลกากรที่ไทยเราได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ่ส่งผลดีในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ใช้บริการก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนในหมวดที่ว่าด้วย International Shipment ที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการตอบรับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

“ เมื่อไทยพัฒนาและปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยแน่นอนโดยเฉพาะการส่งออกในหมู่ประเทศอาเซียนด้วยกัน ประเทศคู่ค้าเขาอาจจะคำนึงถึงสินค้าบริการของเขา แทนที่จะไปออกที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ ก็มานำเข้าส่งออกที่บ้านเรา”

หรือในหมวดที่เกี่ยวกับการตรวจสอบว่าสินค้าอยู่ที่ไหน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ นี่ก็สำคัญมากต่อลูกค้าที่ใช้บริการ ยิ่งเราโดดเด่นมากเท่าไหร่  โอกาสประเทศที่ 3 ที่เขาจะมาค้าขายกับอาเซียน เขาก็จะเลือกไทยเป็นฮับการค้าของเขาก็ค่อนข้างจะสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายความเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า

“หากจะเปรียบเทียบไทยกับสิงคโปร์และฮ่องกง ผมมองระบบโลจิสติกส์ทั้ง 2 ประเทศถูกขับเคลื่อนระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่เขาสามารถสร้างแพลทฟอร์มด้านดิจิทัลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถมาใช้ประโยชน์สูงสุดทางด้านการค้าขายและสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ผ่านเทคโนโลยีร่วมกันได้ดี  แต่ไทยเรายังเป็นเรื่อง G to G และ G to B เป็นส่วนใหญ่  แต่ 2 ประเทศเขาอัพเกรดมา 3 ครั้งแล้ว เขาจะทำเป็นเรื่องของ B to B ไปหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาให้ก้าวไกลและก้าวทันกับทั้ง 2 ประเทศ”

ฝากการบ้าน 3 ข้อให้รัฐบาลเร่งไขลานสะเด็ดน้ำ

เมื่อถามว่าสิ่งที่อยากฝากเป็นการบ้านให้ภาครัฐในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์มีอะไรบ้าง ผศ.ดร.พงษ์ชัย ระบุว่าขอแบ่งเป็น 3 ส่วน อย่างแรกเป็นส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ที่รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาอยู่ในเวลานี้และอยากให้เร่งพัฒนาต่อเนื่อง ไม่อยากให้กระตุ้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เช่นที่ผ่านมา กรณีที่เราอยากจะเน้นรถไฟทางคู่ แต่เรากลับไปเน้นสร้างถนนซะเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ค่อนข้างผิดแผนไป อย่างที่สองคงเป็นเรื่องการพัฒนาและนำเรื่องดิจิทัลและเทคโนโยลีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเราพยายามมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็มาสะดุดไม่ต่อเนื่องหากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่เขาไปไกลถึงเฟส 3 แล้ว ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไทยเราเองมีศักยภาพพออยู่แล้ว เพียงแต่อยากให้ผู้บริหารประเทศระดับสูงลงมากำชับให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

“สุดท้ายแล้วคงเป็นเรื่องโลจิสติกส์ที่ผมไม่อยากให้มองแค่ว่าเป็นเรื่องต้นทุน เพราะธุรกิจโลจิสติกส์มีมูลค่ามหาศาล จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ต่อเนื่องมากกว่านี้  ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดี ยิ่งไทยเราได้เปรียบตั้งอยู่ในศูนย์กลางอาเซียน ค่อนข้างจะได้อานิสงส์มาก หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังก็จะเพิ่มความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องใหญ่นี้ อยากให้ภาครัฐโดยผู้บริหารระดับสูงช่วยลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างจริงจัง เพราะเราเสียโอกาสมาเป็น 10 ปีแล้ว”

อย่างไรก็ดี แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (2560-2564) ซึ่งผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ส่วนตัวแล้วยังมองเป็นแผนพัฒนาค่อนดีมาก แต่ส่วนใหญ่พอเข้าจริงๆแล้วก็จะไปบิดเบี้ยวในระดับกระทรวงผ่านผู้บริหารที่เข้ามารับผิดชอบงานตามห้วงเวลาการเปลี่ยนแปลงตามอายุงาน ส่วนมากแล้วก็กลับไปดูพันธกิจเดิมๆ และไม่ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในเรื่องเหล่านี้มากพอ ซึ่งเราเสียเวลาเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีเช่นเดียวกัน

“อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องการจัดสรรเม็ดเงิน พอมาจุดหนึ่งสำนักงบประมาณก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้ตามแผน เมื่อไม่เป็นไปตามแผนก็ยากที่จะพัฒนาต่อเนื่อง หนักขึ้นไปอีกพอฝ่ายการเมืองเข้ามากุมบังเหียน เขาก็จะมีกรอบเวลาและงานของเขา และบางทีก็มาเปลี่ยนแผนบ้าง จึงอยากฝากทุกรัฐบาลในที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ดำเนินงานตามแผนและยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้จะดีกว่า”