หลังเวิล์ด แบงก์ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับด้านโลจิสติกส์ (The Logistics Performance Index :LPI) ประจำปี 2018 จากผลการประเมิน 160 ประเทศทั่วโลก ที่พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 32 ของโลก ดีขึ้นถึง 13 อันดับ จากการจัดอันดับครั้งก่อนในปี 2016 ที่อยู่อันดับ 45 ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์
ผลสำรวจที่ออกมาดังกล่าว กลายเป็น“บิ๊กเซอร์ไพรส์” หรือไม่ เหตุใดพัฒนาการของระบบโลจิสติกส์ไทยแซงหน้ามาเลเซีย ทำสถิติดีขึ้นชนิดพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในรอบกว่า 10 ปีได้ ทั้งๆ เมื่อหลายปีก่อนการขับเคลื่อนโลจิสติกส์เป็นไปอย่าง “ล่าช้า” ถึงขั้น “ย้ำอยู่กับที่ ” ด้วยซ้ำ
LOGISTICS TIME ถือโอกาสนี้ผ่าไส้ในโลจิสติกส์ไทย การดำเนินงานและผลงานความก้าวหน้าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และเป็นกระจกเงาสะท้อนมุมมองจากผลการสำรวจดัชนีชี้วัดศักยภาพโลจิสติกส์ไทยของเวิลด์ แบงก์ดังกล่าว ผ่านมุมมอง“กูรู”ในแวดวงโลจิสติกส์เมืองไทย ดังต่อไปนี้
ไส้ในโลจิสติกส์ไทย ดีขึ้นจริงหรือ?
ประเดิมจาก ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่สะท้อนมุมมองถึงการขยับอันดับดัชนีด้านโลจิสติกส์ของไทยล่าสุดว่าการจัดอับดับศักยภาพด้านโลจิสติกส์ (The Logistics Performance Index :LPI) ทางเวิล์ดแบงก์ได้สำรวจทุกๆ 2 ปี โดยอาศัยเกณฑ์วัด 6 ด้านด้วยกัน ผลล่าสุดปี 2018 ที่อันดับของไทยขยับดีขึ้นที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ทั้งที่ 2 ปีก่อนหน้านี้ไทยยังรั้งอันดับ 45 ถือว่าเกินความคาดหมาย
“การสำรวจดัชนี LPI ของเวิลด์แบงก์ เป็นการวัดศักยภาพด้าน International Logistics ที่มีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดผลดีต่อการนำเข้าส่งออกเป็นหลัก ยังไม่คำนึงถึงเนื้อในภายในประเทศมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผลจากรัฐบาลได้ผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมขนส่งต่างๆ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการอีอีซี หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพราะโครงการเหล่นี้ยังไม่ได้ก่อสร้างเต็มรูปแบบ แต่หากรุกหน้าเต็มรูปแบบอันดับของไทยก็น่าดีกว่านี้ โดยเฉพาะในส่วนที่ 2 ซึ่ง LPI นี้เขาจะวัดทั้งหมด 6 ด้าน ซึ่งด้านที่ 2 จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดูจากทั้งจากท่าอากาศยาน ถนน และรถไฟ ที่เชื่อมต่อมายังประตูทางออกประเทศที่มีการนำเข้าส่งออก”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวอีกต่อหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน เมื่อปี 2016 ไทยยังอยู่อันดับที่ 45 ล่าสุดอันดับขยับขึ้นที่ 32 ขณะที่มาเลเซีย ปี 2016 อยู่อันดับที่ 41 ปีนี้ยังอยู่อันดับที่ 41 สะท้อนว่าค่อนข้างไม่ได้พัฒนาอะไร ส่วนเวียดนามปี 2016 อยู่อันดับที่ 39 ดีกว่ามาเลเซีย และปี 2018 เวียดนามอยู่อันดับที่ 39 ดังนั้น ถ้าเทียบศักยภาพการพัฒนาโลจิสติกส์ถือว่าพัฒนาได้ดีมากของโลกในระดับหนึ่ง
อันดับโลจิสติกส์ขยับ แต่ต้นทุนสูงลิ่ว!
ถึงกระนั้น ผศ.ดร.พงษ์ชัย ยังสะท้อนมุมมองถึงการได้ประโยชน์จากอันดับโลจิสติกส์ไทยดีขึ้นว่าประโยชน์ที่ได้รับก็มากพอสมควรอย่างเช่นหมวดว่าด้วยพิธีการศุลกากร อีกหมวดหนึ่งก็สำคัญ คือหมดอินเตอร์เนชั่นแนล ชิปเม้นท์ ที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการตอบรับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการรวมตัวเป็นอาเซียนด้วยแล้ว ประเทศในอาเซียนอาจจะใช้ประเทศไทยเป็นฮับนำเข้า-ส่งออกสินค้าแทนที่จะไปออกประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนมากยิ่งขึ้น
“แม้อันดับไทยเราจะขบับดีขึ้น แต่ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP บ้านเรายังสูงถึง 13.9 %ต่อ GDP ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 8- 9 % ต่อ GDP แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เราแพงกว่าสิงคโปร์ อีกทั้งต้นทุนโลจิสติกส์ไทยยังแพงกว่ามาเลเซีย แม้ว่าอันดับLPI เราจะสูงกว่ามาเลเซีย สะท้อนว่าไทยเราต้องเร่งเครื่องพัฒนาในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน”
LPI ไทยขยับ! อย่าเหลิง…ไม่งั้นจะแค่ “มายาคติ”
ด้านรศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่า LPI ของเวิล์ดแบงก์ เป็นการสำรวจความสามารถด้านโลจิสติกส์ในระดับมหภาคจากเกณฑ์วัด 6 ด้าน ซึ่งเป็นการสำรวจเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ ซึ่งเป็นดัชนีชี้ให้เห็นได้ชัดว่าโลจิสติกส์ไทยมีทิศทางการเติบโตทีสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การค้าในระดับภูมิภาค
“การที่อันดับ LPI ไทยขยับดีขึ้น เป็นกระจกเงาที่สะท้อนชัดว่าศักยภาพและความสามารถด้านโลจิสสติกส์บ้านเราไม่ขี้เหร่ เป็นแรงหนุนให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตานักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นการชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพด้านนี้ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ยิ่งไปกว่านั้นไทยเรามีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ที่ชัดเจน เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน”
ถึงกระนั้น รศ.ดร.รุธิร์ ยังฝากข้อเตือนใจว่าอย่ามัวแต่เหลิงกับอันดับที่ไต่ระดับสูงขึ้น ต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา อย่าลืมว่าประเทศอื่นๆก็เร่งฝีเท้าเช่นกัน อีกอย่างการวัดอับดับ LPI นี้เป็นการวัดเชิงคุณภาพไม่ใช่วัดเชิงปริมาณ แม้จะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจะมีมากมายก่ายกองเพียงใดก็ตาม แต่พอใช้งานจริงกลับไม่เกิดศักยภาพและประสิทธิภาพ มันก็เปล่าประโยชน์ ไม่เช่นนั้นแล้วตัว LPI ที่ได้มาก็จะเป็นแค่มายาคติ
สร้างความเชื่อมั่น-ดึงดูดนักลงทุน
ขณะที่ดร.ชุมพล สายเชื้อ รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย อีกหนึ่ง “กูรู” ด้านการขนส่งเมืองไทย เปิดเผยว่าผลจากอันดับ LPI ไทยขยับดีขึ้น เป็นการสะท้อนถึงการความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ไทย เป็นสัญญาณเชิงบวกที่มีส่วนสำคัญต่อการเรียกความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะมาลงทุนในไทยได้เป็นอย่างดี
“เมื่ออันดับ LPI ไทยดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเส้นทางขนส่งสินค้าดีขึ้น การเชื่อมโยงถนนหนทางไปสู่การนำเข้าส่งออกไปต่างประเทศ มีความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนการขนส่งที่ลดลง และมีแผนการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ชัดเจน และขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เหล่านี้เองเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นแรงดึงดูดให้กับนักลงทุน”
แม้อันดับ LPI ไทยจะไต่ระดับสูงสร้างบิ๊กเซอร์ไพร้สและใช้เป็นใบเบิกทางเรียกศรัทธาจากนักลงทุนในเชิงจิตวิทยาก็ตาม แต่ทว่าหากคลี่ดูแก่นแท้อันเป็นตัวชี้วัดด้วยมิติคุณภาพล้วนๆจากบรรดาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ไทยเรามีอยู่ หาใช่วัดด้วยมิติปริมาณไม่
บ่งชี้ชัดว่าที่มีอยู่และที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างสุดลิ่มทิ่มประตูตามแผน ต้องวัดกันที่ใช้งานแล้วได้คุณภาพและประสิทธิภาพเท่านั้น มิเช่นนั้นประเทศชาติจะสูญเสียโอกาส
LPI ที่ขยับในวันนี้….อาจไม่ได้ต่อ!