นิตยสาร Logistics Time ปีที่ 15 ฉบับที่ 167 ประจำเดือนกันยายน 2561 : “สิงห์ตะวันเพลิง” ขอรายงานตัวประจำฐานกองบัญชาการข่าวคอลัมน์“เลาะระเบียงขนส่ง” ทำหน้าที่รายงานข่าวเด่น-ดัง-ร้อนในในแวดวงขนส่ง พลางหยิบแกมหยอกบรรดาพี่น้องสิงห์รถบรรทุกและผู้ประกอบการขนส่งทั่วฟ้าเมืองไทยอีกแล้วครับกระผม
***ข่าวความเคลื่อนไหวในห้วงนี้ร้อนแรงแซงโค้งหน้าฝนหลายเรื่องหลายราวซะเหลือเกิน เมื่อก่อนผู้ประกอบการขนส่งบ้านเราก็จะออกบ่น-อ้างข้างๆคูๆสนั่นท้องทุ่งสิบล้อไทยเกี่ยวกับปมจับ-ปรับสิงห์รถบรรทุกแบกน้ำเกินกฎหมายกำหนด หวยมักออกที่ผู้ขนส่งเพียงอย่างเดียวไม่เห็นกฎหมายเอาผิดกับผู้ว่าจ้าง ร้อนรนทนไม่ไหวรวมตัวกันผลักดันให้รัฐเร่งแก้กฎหมายใหม่เอาผิดผู้ว่าจ้างเหมาเข่งไปด้วย
***ล่าสุดก็ไม่รู้จะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายกันแน่หลังทางหลวงจ่อเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่คุมเข้มบรรทุกเกินภายในปลายปีนี้ จัดหนักจัดเต็มสิงห์รถบรรทุกนอกคอกแบกน้ำหนักเกินกม.กำหนด สู่ปฏิบัติการจับ-ปรับ”ทั้งผู้ผลิต-ผู้ขาย-ผู้ซื้อ” โทษสูงสุดครั้งละ 1 แสนบาทพ่วงโทษถอนใบอนุญาตอีกต่างหาก
***การรุกคืบครั้งนี้เป็นการลงนาม (MOU) ระหว่างหน่วยงานและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทล. การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การท่าเรือเเห่งประเทศไทย(กทท.)และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เป็นต้น หลังจาก MOU แล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอแก้กฎหมายพรบ.การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกปี 2535 คาดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปีนี้ หากอนุมัติจะบังคับใช้ได้ทันทีช่วงปลายปีนี้
***กับผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ พ่อใหญ่ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ก็ยิ้มหน้าบานเป็นจานดาวเทียมพลางพรูพรั่งคำพูดสวยหรูว่ากฎหมายใหม่จะมีการเพิ่มโทษผู้ลักลอบขนส่งสินค้าน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยคิดอัตราโทษแบบทวีคูณ เริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาท จากนั้นจะทวีคูณเป็น 3 หมื่นบาทและเพิ่มขั้นสูงสุดมากกว่า 1 แสนบาท นอกจากจะปรับผู้ขับขี่แล้วโทษปรับนั้นจะกระจายความผิดไปทั้งบริษัทผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุก บริษัทและผู้ผลิตสินค้าที่บรรทุก รวมถึงบริษัทและผู้ประกอบการที่สั่งซื้อปลายทาง เรียกว่ามีการบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
***สิงห์ตะวันเพลิง ก็ได้งงๆว่าหากมีการบังคับกม.ใหม่นี้จะช่วยตัดวงจร “ส่วยทางหลวง”ให้หายไปจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ตรงไหน?หรือจะเป็นเพิ่มเชื้อใหม่สุมไฟให้มหากาพย์ส่วนทางหลวงลุกลามหนักกว่าเดิม? หรือนี่คือปฏฺิบัติการ “ล้อมคอก” เท่านั้่น? ใครก็ได้ช่วยตอบที?
***ด้านแวดวงรถทัวร์ 2 ชั้นแต่เดิมทรุดยังไงใหม่ก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะกระทรวงหูกวางยังยืนยันคุมกำเนิดรถทัวร์ 2 ชั้นให้เท่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ 7 พันคัน พร้อมเตะสะกัดต่อรถใหม่อีกต่างหาก โดยคุณพี่ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผช.รมต.กระทรวงคมนาคม ยืนยันรัฐบาลยังคงให้รถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)จำนวน 6,145 คัน และรถ2ชั้นที่จดประกอบเรียบร้อย ซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบการลาดเอียงอีกจำนวน 126 คัน หากทดสอบมาตรฐานผ่านรวมถึงรถที่อยู่ระหว่างประกอบรถตามอู่ที่มีการสำรวจไว้ประมาณ 114 คัน สามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ หลังจากนี้จะไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นรถที่ถูกต้อง และมาวิ่งให้บริการได้อย่างเด็ดขาด
***ส่วนรถสองชั้นที่จะจดทะเบียนใหม่ จะมีข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คือ ต้องเป็นรถสองชั้นที่อยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนกับกรมฯอยู่แล้ว และเป็นรถที่อยู่ระหว่างต่อรถที่อู่ต่อรถ ซึ่งทางกรมฯกำลังอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขจำนวนดังกล่าว ซึ่งหากไม่เข้าข่ายทั้ง 2 ข้อนี้ จะไม่สามารถจดทะเบียนรถสองชั้นเพิ่มได้
***ด้านผู้ประกอบการรถทัวร์โอดครวญเสียงหลง เรือล่มภูเก็ตกระทบยอดนักท่องเที่ยวจีนจองรถทัวร์ลดกว่า 30%คาดปีนี้สูญรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท วอนภาครัฐให้ความสนใจพัฒนาคนขับรถทัวร์ เหตุขาดแคลนกว่า 30% โดยท่านนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) “ทนงพันธ์ สุทธิพงษ์” ระบุขณะนี้ยอดจองรถทัวร์โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนมียอดจองใช้รถทัวร์ลดลงอย่างชัดเจน และคาดปีนี้จะสูญเสียรายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
***พร้อมกับบ่นหน่วยงานภาครัฐไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานขับรถเท่าที่ควร ประกอบกับขณะนี้ธุรกิจรถโดยสารกำลังเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ ทำให้เอกชนบางรายจำเป็นต้องจ้างพนักงานขับรถชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) เข้ามาทำงานและขาดการตรวจสอบควบคุมคุณภาพของพนักงานขับรถอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางได้
***ปล่อยให้ตัวอักษรเริงระบำถึงบรรทัดนี้ก็เห็นสมควรคงไว้แค่นี้ เจอกันฉบับหน้าครับ!