กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) เชิญกูรูโลจิสติกส์โลก เปิดเวที TILOG-LOGISTIX 2018 จัด Symposium เสวนาเจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ของโลกโดยเฉพาะเอเชีย พร้อมเผยกลยุทธ์บริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายภายใต้แนวคิดThe Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chainหนุนทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ปรับตัวรับการขยายตัวตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกำหนดจัดงานSymposium ภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ (TILOG-LOGISTIX) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลสถานการณ์การค้า และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจของไทยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศจากองค์กรชั้นนำระดับโลกตอบรับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทยตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานSymposium 2018จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chainหรือ ทิศทางในอนาคตของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคมนี้ ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
“Symposium 2018 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การบรรยาย และการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ระดับนานาชาติผู้ร่วมงานจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปีนี้จะเน้นไปที่โลจิสติกส์สินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ผู้ร่วมงานสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจันทิรา กล่าว
ในส่วนของการบรรยายปีนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานมาร่วมบรรยาย5ท่าน ประกอบด้วยดร.ทอม เดน แฮร์ทอค (Drs.Tom Den Hertog) อดีตประธานบริหาร Ahold Asia Pacific (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) ผู้บุกเบิกและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการค้าปลีกและซัพพลายเชนอาหารผักผลไม้สดระดับโลก บรรยายในหัวข้อ“แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโซ่อุปทานอาหารของโลก”เปิดเผยถึงเทคโนโลยีการพัฒนากลยุทธ์และนวัตกรรมของธุรกิจชั้นนำในโซ่อุปทานอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป
นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ (Mr.TejMayurContractor)ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในวงการโลจิสติกส์ ผู้นำนวัตกรรมมาพัฒนาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce, Multimodal Transportation และ Last Mile Deliveryบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์ของโซ่อุปทานอาหารในเอเชีย”ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในระบบการจัดการโซ่อุปทานอาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูง
นายจอห์น พาร์ค (Mr.John Parkes)ผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค (Fast Moving Consumer Goods: FMCG)บรรยายในหัวข้อ “ระบบโลจิสติกส์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค”กล่าวถึงเทคโนโลยีระบบการค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ซึ่งบูรณาการการค้าออนไลน์ การค้าออฟไลน์ ระบบโลจิสติกส์และข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค
นายริชาร์ด เหย่ (Mr.Richard Yeh) ประธานกิตติมศักดิ์ของTaiwan International Logistics Supply Chain และที่ปรึกษารัฐบาลไต้หวันในการส่งเสริมมาตรฐานสากลสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตร บรรยายในหัวข้อ “การจัดการโซ่ความเย็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกษตรกรรม” เปิดแนวคิดใหม่ด้านการบริหารจัดการโซ่ความเย็น เพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้า ยืดอายุการเก็บรักษา ลดต้นทุนการขนส่ง และการลดความเสี่ยงในการจัดการสินค้าควบคุมอุณหภูมิ
นายโทนี่หยิน (Mr.Tony (Zhigao) Yin) ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ จากประเทศจีน บรรยายในหัวข้อ “แพลตฟอร์มการค้า B2B ระดับโลก”เปิดเผยถึงโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดสู่ผู้ซื้อระดับองค์กรทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มAlibaba.com ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business e-Commerce) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ
สำหรับการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จัดขึ้น2 หัวข้อ ได้แก่ “โอกาสและความท้าทายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานอาหารและสินค้าเน่าเสียง่าย”โดยนายประวิทย์ โชติปรายนกุลผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ส่งเสริมและผลักดันมาตรฐานสากลร่วมกับระบบการสืบย้อนกลับ (Traceability) ในทุกกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า นายเรมอน กฤษณัน (Mr.Raymon Krishnan)ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานระหว่างประเทศ พร้อมด้วย ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค และ นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ และหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โซ่ความเย็น” โดยนายซาลดี้ย์ อิลฮัม มาสิตา (Mr.ZaldyIIhamMasita)ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และซัพพลายเชนที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปี ในบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง นายเลอย์ ดุย เฮียบ (Mr.Le DuyHiep) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศเวียดนามผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และห้องเย็นมาตรฐานสากล พร้อมด้วย นายริชาร์ด เหย่และ นายโทนี่ หยินโดยมี นายไกรซาร์ กีลิตวาลา(Mr.KraisarGilitwala)ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ การตลาด อีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ