ทกท. ปรับปรุงการให้บริการ e-Payment ตู้สินค้าขาออก ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้

0
82

เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. จะนำระบบ e-Payment  มาใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าภาระตู้สินค้าขาออก และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าขาออก ณ ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันออกของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 1 กันยายน 2561 นี้ ซึ่งการทดลองใช้ในช่วง 6 เดือนแรก ทกท. จะให้บริการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ด้วยระบบเดิม และระบบ e-Payment ควบคู่กันไป โดย กทท. จะออกใบเสร็จแบบย่อ ผู้ใช้บริการสามารถพิมพ์ได้เอง หลังจากทำรายการ e-Payment ผู้ใช้บริการสามารถนำมารับใบเสร็จตัวจริงได้ที่ Main Gate ทกท. ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ทกท. จะเพิ่มธนาคารทางเลือกที่จะให้บริการรับชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น โดยจะดำเนินการประสานกรมสรรพากร เพื่อเปลี่ยนรูปแบบใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากกระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

โครงการพัฒนาระบบ e-Payment เป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม โดยใช้ระบบ IT ในการบริหารจัดการ โดยการจัดส่งข้อมูลของลูกค้าจะอยู่ในระบบดิจิตอลทั้งหมด เป็นการลดขั้นตอนในการทำพิธีการตู้สินค้าขาออกที่ผู้ใช้บริการจะต้องนำตู้สินค้าผ่านประตูหลัก (Main Gate) เข้าไปในเขตรั้วศุลกากร ทกท. จากเดิมผู้ใช้บริการต้องเตรียมชำระอัตราค่าธรรมเนียมพาหนะผ่านท่า และอัตราค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ (Lift Off Charges) และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของ กทท. ตรวจและรับชำระเงินหน้าประตู ซึ่งอาจเกิดปัญหาจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน การนำระบบ e-Payment จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดเอกสารและประหยัดเวลา โดยผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลพิธีการตู้สินค้าขาออกลงในระบบ NSW (National Single Window) ได้ในทุกที่ที่มีโปรแกรมการใช้งาน โดยข้อมูลดังกล่าวจะผนวกรวมกับใบกำกับการขนย้ายสินค้าของกรมศุลกากร พร้อมเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงให้กับระบบ e-Payment ซึ่งรถบรรทุกตู้สินค้าจะสามารถสแกนข้อมูลและผ่านเข้าประตูหลัก โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดรอเพื่อชำระเงินหรือตรวจประเภทรถและตรวจสอบใบเสร็จผู้ใช้บริการเพียงบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและหมายเลขตู้สินค้า ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลบริษัทฯ จากระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับระบบ CTMS เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณค่ายานพาหนะผ่านท่า ค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ (Lift Off Charges) และค่าชั่งน้ำหนักตู้สินค้าแบบเบ็ดเสร็จ