ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยเซ็กเม้นต์รถจากแดนซามูไร ความยิ่งใหญ่ยังตกเป็นของ 2 ค่ายมหาอำนาจอย่าง “อีซูซุ”และ “ฮีโน่” ช่วงชิงความเป็นแชมป์ยอดขายในแต่ละปี นอกนั้นแบ่งสัดส่วนให้ “ยูดีทรัคส์-ฟูโซ่”ไล่เบียดแย่งชิงสัดส่วนตลาดพอหอมปากหอมคอ
ขณะที่ค่ายรถบรรทุกจากแดนมังกรที่ระยะหลังไม่หวือหวาเหมือนในอดีต ฟากฝั่งค่ายรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปที่ถูกยกให้เป็นตลาดบนที่แม้จะยอดขายในแต่ละปีไม่มากนักแตะระดับพันคันต้นๆหากวัดกับค่ายรถญี่ปุ่นที่โกยยอดขายไปปีละกว่า 2 หมื่นคัน โดยเป็น 2 ค่ายมหาอำนาจอย่าง “วอลโว่”และ“สแกนเนีย” ยังจับให้เป็น “มวยถูกคู่”คับเคี่ยวสูสีทุกปีเฉกเช่นค่ายรถญี่ปุ่นที่มี “อีซูซุ”และ “ฮีโน่”เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน
แม้ค่ายวอลโว่แทบจะผูกขาดและครองความเป็นเบอร์หนึ่งตลาดเหนียวหนึบทุกปี แต่ทว่า เมื่อปี 60 ที่ผ่านมา ค่ายสแกนเนีย แตะคันเร่งเบียดคู่แข่งเพื่อนบ้านเดียวกันเข้าป้ายในฐานะ “เจ้าตลาด”เป็นผลสำเร็จเป็นปีแรก
ทั้งนี้ หลังแหวกม่านปีศักราชใหม่ 2561 ผ่านมาได้ครึ่งทาง หลายค่ายรถใหญ่เริ่มขยับตัวพร้อมเดินเครื่องกลยุทธ์การตลาดและเริ่มทิศทางการเติบโตกันบ้างแล้ว และกำหนดกลยุทธ์การตลาดไว้ห้ำหั่นในอีกครึ่งปีหลังกันสุดลิ่ม
Logistics Time ถือโอกาสเปิดมุมมองแบบ Exclusive ถึงภาพรวมการแข่งขันของค่ายรถบรรทุกเมืองไทยจาก “ดร.ชุมพล สายเชื้อ”รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อีกหนึ่ง “กูรู” ด้านการขนส่งเมืองไทย
“อีซูซุ-ฮีโน่” …ยังแกร่งสุดในปฐพี
ดร.ชุมพล ได้เริ่มจุดพลุมุมมองว่าต้องยอมรับว่าตลาดรถบรรทุกเมืองไทยในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนมีเพียงไม่กี่ค่ายที่สู้ฟัดเหวี่ยงกัน การแข่งขันก็ไม่ดุเดือดอะไรมาก แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนโฉมหน้าไปเยอะมาก เพราะในตลาดมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มกันมากขึ้น ทำให้อัตราการแข่งขันก็สูงสุดขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกลไกและแนวทางการทำตลาดเปลี่ยนจากเดิม แต่ละค่ายก็ต้องทำการบ้านกันอย่างหนักหวังช่วงชิงการตลาด
“อย่างรถบรรทุกจากญี่ปุ่นที่เมื่อก่อนก็มีเพียงค่ายอีซูซุและฮีโน่เท่านั้นที่เข้าทำตลาดเมืองไทย ถึงวันนี้อีซูซุก็กว่า 60 แล้ว ส่วนฮีโน่ก็กว่า 55 ปีเข้าไปแล้ว ทั้ง 2 ค่ายนี้ถือได้ว่ากุมความได้เปรียบกว่าค่ายอื่น เหตุเพราะเข้ามาวางฐานการตลาดได้ก่อนใครเขา ทั้งจำนวนดีลเลอร์ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี รถก็มีหลากหลายรุ่นให้ลูกค้าได้เลือกซื้อไปใช้งานขนส่ง ฐานลูกค้าก็มีมากกว่าค่ายอื่นๆ และที่สำคัญความเชื่อมั่นจากลูกค้าก็ย่อมมีมากกว่าค่ายอื่นๆเช่นกัน”
ดร.ชุมพล ระบุอีกว่าถึงกระนั้นแล้วเวลานี้ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ดังกล่าวก็ไม่อาจทำการตลาดแบบง่ายอีกแล้ว เพราะในสนามแข่งมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ายยูดี ทรัคส์ และค่ายฟูโซ่ ซึ่งแต่ละค่ายก็มีความพร้อมและความแข็งแกร่งเช่นกัน และเร่งทำตลาดและเติมเต็มศักยภาพในทุกๆด้าน หวังช่วงชิงสัดส่วนตลาด และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทย
“ตลาดปราบเซียน”ไม่เจ๋งจริง..ม้วนสื่อกลับบ้าน!
ประเด็นรถบรรทุกจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ดร.ชุมพล ให้ทรรศนะว่ารถบรรทุกหัวลากจากจีนถึงจุดพีคสุดก็หลังน้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 เพราะเวลานั้นค่ายรถบรรทุกจากญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องอะไหล่นำไปสู่กระบวนการผลิตไม่คล่องตัว ประจวบเหมาะที่ค่ายรถจีนยกพลขึ้นบุกตีตลาดรถใหญ่เมืองไทยเป็นว่าเล่น
“หลังเหตุการณ์น้ำท่วมดีมานด์ตลาดรถบรรทุกเมืองไทยสูงมาก เมื่อรถญี่ปุ่นผลิตไม่ทันค่ายรถจีนก็เข้ามาเสียบได้เหมาะเจาะ อีกทั้งรถจีนมีจุดเด่นตรงที่สั่งซื้อและรับรถได้อย่างรวดเร็วทันใจและตอบโจทย์ผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องการรถไปงานระยะเร่งด่วน แต่รถจีนก็มีจุดด้อยเช่นเดียวกัน เพราะค่ายรถจีน 1 ค่ายเข้ามาทำตลาดเมืองไทยมีการเซ็นสัญญากับผู้แทนจำหน่ายในไทยหลายราย แต่ละรายก็จำหน่ายกันคนละรุ่น หรือเถ้าแก่ขนส่งเมืองไทยใครพอมีกำลังเงินถุงเงินถังหน่อยก็บินไปเซ็นสัญญานำเข้ามาขายในไทย คิดดูล่ะกันค่ายรถจีนกว่า 10 ยี่ห้อที่เข้าทำมาตลาดในไทยช่วงนั้น”
นอกจากนี้ ดร.ชุมพล ย้ำตะปูมุมมองอีกว่าเมื่อต่างคนต่างนำเข้ามาขาย พอลูกค้านำรถมาซ่อมก็ประสบปัญหา เพราะศูนย์บริการมีน้อย บริการหลังการขายที่ขาดความคล่องตัว ขาดเอกภาพด้านการบริหารจัดการให้เป็นระบบและมืออาชีพ สุดท้ายลูกค้าก็ขาดความเชื่อมั่นจนนำมาสู่ยุคตกต่ำของค่ายรถจีน หลายค่ายไปต่อไม่ไหวจำเป็นต้องม้วนเสื่อกลับเมืองจีน เป็นการสะท้อนว่าตลาดรถใหญ่เมืองไทยไม่ใช่ฐานรองรับการตลาดแบบฉาบฉวย เป็นตลาดปราบเซียนไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้
ตลาดรถใหญ่ยุโรปบู๊เหลี่ยมการตลาดสนุก
ส่วนค่ายรถบรรทุกสายพันธุ์ยุโรปนั้น ดร.ชุมพล สะท้อนมุมมองว่าตลาดรถบรรทุกสายพันธุ์ยุโรป เพราะด้วยสมรรถนะเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพการใช้งานสูงมาก ประกอบกับราคาค่างวดก็สูงกว่ารถญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก จึงถูกจัดให้เป็นตลาดพรีเมี่ยมมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
“เมื่อก่อนก็เพียงยี่ห้อวอลโว่และสแกนเนียที่แข่งขันกันทำตลาด ซึ่งทั้ง 2 ค่ายมีความพร้อมและศักยภาพทุกด้าน ไม่ว่าวัฒนธรรมองค์กร ฐานลูกค้า และศูนย์บริการ ตลอดถึงโรงงานประกอบ เป็น 2 ค่ายมหาอำนาจรถใหญ่ยุโรปที่ไล่บี้ไล่เบียดกันสนุกในแต่ละปี แต่ทุกวันนี้ตลาดรถใหญ่ยุโรปดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น เหตุมีอีกหลายยี่ห้อเข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาด ไม่ว่าจะเป็นค่าย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ค่าย MAN (เอ็ม.เอ.เอ็น.) จากประเทศเยอรมัน รวมถึงค่ายไอวีโก้จากประเทศอิตาลี ถิอว่าเซกเม้นต์นี้สู้กันสนุก”
อย่างไรก็ดี ดร.ชุมพล สรุปปิดท้ายว่าเมื่อการตลาดเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการตลาดดิจิทัล เห็นชัดว่าหลายค่ายงัดกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลมากขึ้น สื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นแบรนด์ผ่านโลกโชเชียลมากขึ้น ตอบโจทย์ให้ลูกค้าสามารถเข้าได้ถึงสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งห้ำหั่นกลยุทธ์การตลาดแบบแรงๆ ทั้งการหั่นราคา โปรโมชั่น หรือแคมเปญพิเศษออกมาล่อใจและดูดกำลังซื้อจากลูกค้ามากขึ้น สะท้อนชัดว่าตลาดรถบรรทุกเมืองไทยยังร้อนแรงและแข่งขันกันดุเดือดต่อเนื่องทุกปี