ลับ ลวง พราง นโยบายพลังงานยุค 4.0 (ภาค 2) กับปฏิบัติการโละบอร์ด กกพ. สนองทุนการเมือง!

0
1214

กำลังเป็นประเด็นสุุดฮอท เป็น “ทอล์ฟ ออฟ เดอะ ทาวน์”

กับปฏิบัติการฟ้าผ่าเปรี๊ยงที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. ที่กำลังงานเข้าถูกกระทรวงพลังงานกดดันอย่างหนักให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ไม่รู้จะให้ปรับกันอีท่าไหนถึงกลายมาเป็นการ “บีบ” กรรมการ กกพ. อย่างน้อย 3 คน หรือครึ่งหนึ่งของ กกพ. ที่มีอยู่ 6 คนในขณะนี้ต้อง “ลาออก”! 

แต่เมื่อถึงกำหนดเงื่อนเวลาที่ กกพ. ต้องตัดสินใจเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลับตาลปัตร เพราะดูท่า กกพ. จะ “เกาะเก้าอี้แน่น” ประเภทเป็นไงเป็นกันเสียมากกว่า ไอ้ที่ถูกบีบเค้นให้ต้องแสดงสปิริตเสียครึ่งหนึ่งหรือลาออกยกชุดกันไปเลยกลายมาเป็นแรงเสียดทานให้ลุกขึ้นสู้ ทำเอา “ไอ้โม่ง – Invisible Hand” ที่อยู่เบื้องหลังการเดินเกมโละบอร์ด กกพ.ในคร้ังนี้นั่งไม่ติด กระแสที่จุดติดมาก่อนหน้าเลยพาลจะเสนอให้นายกฯ งัด ม.44 ขึ้นมาใช้อีกคร้ัง

เรื่องของเรื่องที่มันยุ่งขิงก็นัยว่า เพราะผลงาน “ชิ้นโบแดง”ของ กกพ. ชุดนี้ ที่แม้จะมีที่มาจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 แต่งตั้งเข้ามานับตั้งแต่ คสช. ปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อกลางปี 2557 ซึ่งระยะแรกก็คงทำงานเข้าขากันดีกับกระทรวงพลังงานกันดีอยู่หรอก จึงไม่มีปัญหาใดๆ

แต่ระยะหลังคงจะสั่ง “ซ้ายหัน ขวาหัน” ไม่ได้หรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงมี “ใบสั่ง”จากบิ๊กพลังงานที่ส่งสัญญาณให้กรรมการ กกพ. พิจารณาปรับปรุงองค์กร รวมทั้งให้พิจารณาลาออกจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน ปี 2550 ที่ระบุว่า ให้มีการจับสลากออกกึ่งหนึ่งเมื่อครบวาระ 3 ปีหรือไม่

ทั้งที่ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ กกพ. ชุดนี้ ที่อยู่มาจวนจะครบ 4 ปีแล้ว ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรรมการ กกพ. ควรดำเนินการจับสลากออกตามกฎหมายที่หรือไม่ แต่ได้รับคำตอบว่า การจับสลากถูกระบุไว้ให้ดำเนินการเฉพาะกับ กกพ. ชุดแรกเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึง กกพ. ชุดปัจจุบันนี้ที่มีที่มาจาก ม.44 จึงทำให้ กกพ. ชุดดังกล่าวค่อนข้างจะ “มั่นใจไม่ได้ทำอะไรผิด”  หากจะไปก็ขอไปทั้งชุดว่างั้นเถอะ!!!

ยิ่งเมื่อบอร์ด กกพ.”หักดิบ” ยักษ์พลังงานที่ใครก็ทราบดีว่า คือกลุ่มทุนการเมืองใหม่ที่่กำลังส่งคน “ดูดสิบทิศ” เพื่อหวังจะเคลียร์หน้าเสื่อปูทางให้นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หวนกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ภายหลังการเลือกตั้งในต้นปีหรือกลางปี 2562 หลังจากยักษ์พลังงานรายนี้ขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG จนทำให้บริษัทเอกชนถึงกับดับเครื่องชนยื่นฟ้องกราวรูด กกพ.

มันจึงกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้กลุ่มทุนพลังงานรายนี้ ที่ต้องใช้สรรพกำลังเครือข่ายทุกอย่างที่มีเพื่อขจัดขวากหนามของการสยายปีก “กินรวบ”พลังงานไทย!

ย้อนรอยกระแสโละบอร์ด กกพ.

ที่จริง กระแสกดดันให้โละบอร์ด กกพ. ชุดนี้เริ่มมกระหึ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ประยุทธ์ 5” เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2560  ซึ่งมีการปรับเปลี่ยน รมว.พลังงาน จาก “บิ๊กโย่ง-พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์” มาเป็น “นายศิริ จิระพงษ์พันธ์” อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม ที่พอก้าวเข้ามากุมบังเหียนก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานชนิด “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ” กันเลยทีเดียว!

หลายฝ่ายคาดการณ์กันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า หลังการรุกคืบปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงพลังงานแล้ว เชื่อแน่ว่าจะต้องมีรายการรุกคืบปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ ทั้ง บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) รวมทั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. ตามมาอย่างแน่นอน

เพราะนี่คือสูตรสำเร็จของปฏิบัติการยึดหัวหาด Policy Maker เพื่อกรุยทางไปสู่การรุกคืบ “กินรวบ” พลังงานของประเทศในอนาคต !  

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” ไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลายฝ่ายคงจำกันได้ที่จู่ ๆ มีเอกสารที่อ้างว่าเป็น “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานชุดที่มี นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ. เป็นประธาน” ถูกส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 โดยมีเนื้อหาที่พุ่งเป้าไปสู่การลดบทบาทการดำเนินธุรกิจของ ปตท.และ กฟผ. เป็นหลัก

ในรายงานฉบับดังกล่าว ระบุอย่างชัดเจนว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าไม่ได้คำนึงถึงภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการจัดหาไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนสูงลิ่ว ความพยายามนำเข้าไฟฟ้าราคาแพงจากเพื่อนบ้านอย่างโรงไฟฟ้าสตรึงมนัม เกาะกง และพยายามส่งเสริมให้ กฟผ. นำเข้าก๊าซ LNG เองอีก 1.5 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับส่งเสริมการผูกขาด กลายเป็นภาระของประเทศ หรือการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกต่อต้านจนกลายเป็นความสูญเปล่า

ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้านั้นกว่า 70% ถูกผูกขาดโดย ปตท.ที่เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยที่กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ไม่ได้ทำหน้าที่เปิดเสรีอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมองว่าการลงทุนต่าง ๆ ของ กฟผ. ทั้งโรงไฟฟ้าและระบสายส่ง ล้วนเป็นไปในลักษณะ Cost Plus ผลักภาระไปให้ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนแบกรับ ส่งผลต่อขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่กำไรหลักของ ปตท. ยังมาจากการจัดเก็บค่าภาระต่างๆ ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะค่าผ่านท่อที่มีการจัดเก็บค่าบริการซ้ำซ้อน จึงเสนอให้ ปตท. ชะลอการรับซื้อและนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อไม่ให้เป็นภาระผูกพันของประเทศ และเปิดทางเอกชนเข้ามาแข่งขัน

เนื้อหาของรายงานลับฉบับเจ้าปัญหาที่หลายฝ่ายมองว่า ไม่น่าจะใช่รายงานของคณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงานชุดที่มี นายพรชัย เป็นประธานนั้น เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่ทั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ล้วนคว่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงานนั้น จะจัดทำรายงานที่พุ่งเป้า บอนไซ” เพื่อลดบทบาทรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานของประเทศ แล้วหันไปเชิดชูบทบาทของบริษัทพลังงานภาคเอกชน 

หลังจากนักวิชากการและสื่อมวลชนร่วมกันตีแผ่แผนบอนไซกิจการพลังงานของประเทศในครั้งนั้น ผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบายต่างพากันชิ่งหนี “เผือกร้อน” กันจ้าละหวั่น ก่อนที่รายงานฉบับนี้จะอันตธานหายเข้ากลีบเมฆไป ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจจากผู้คนในสังคมว่า ตกลงแล้วรายงานฉบับเจ้าปัญหาที่ว่าถูก “สอดไส้” เข้าไปยัง ครม. หรือไม่กันแน่!!!  

ฟางเส้นสุดท้าย ทุนพลังงานรุกโละ กกพ.! 

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า! 

หลังการปรับเปลี่ยนบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) บอร์ด ปตท. ผ่านไปไม่ทันไรก็มาถึงคิวการปรับปรุงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ “เรคกูเลเตอร์” ที่ว่านี้ โดยแหล่งข่าวในวงการพลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องหลังที่ถือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้กลุ่มทุนพลังงาน “ดับเครื่องชน” กกพ.มาจากถูก “หักดิบ” กรณีที่ กกพ. ไม่อนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ให้แก่บริษัท ทั้งที่บริษัทยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนก็ตาม

มันจึงเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ยักษ์พลังงานลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวถึงขั้นยื่นเรื่องฟ้องบอร์ด กกพ. ยกชุด และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ “บิ๊กพลังงาน” ใช้เป็นข้ออ้างรุกคืบให้มีการปรับปรุงบอร์ด กกพ. ตามมา โดย้างว่ามีปัญหาในการทำงาน ไม่สนองนโยบายรัฐ และยังถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้อง

ทั้งนี้ทั้งน้ันก็เพื่อหวัง “ยกเครื่อง” บอร์ดใหม่ กกพ. ตามมานั่นเอง! 

“มีการเดินเกมจนถึงข้ันไปขอร้องให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เชิญบอร์ด กกพ. มาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนจะโยนให้ บอร์ด กกพ. ตัดสินใจผ่าทางตันการปรับปรุงองค์กรตัวเอง เพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องใช้ไม้แข็ง”  

ขณะที่ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่แม้จะกล่าวหลังประชุมบอร์ด กกพ. ว่า กกพ. เตรียมปรับบทบาทให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในระยะเร่งด่วนปี 2561-2562 อยู่แล้ว โดยจะเสนอปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อยกเลิกระบบ หลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่เดิมต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 4 แห่ง คือ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอดอาคาร (อ.1), ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4), ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม(พค.2) ก็จะเหลือเพียงใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานเพียงใบเดียว มาเป็นการยื่นขอกับกกพ.เพียงหน่วยงานเดียว และลดใบอนุญาตให้เหลือเพียง 1 ใบจากเดิมที่จะต้องมีถึง 4 ใบโดยคาดจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2563

นอกจากนี้ กกพ. เตรียมประกาศโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะใช้ในปี 2561-2563 ได้ภายในปลายปีนี้ และอัตราค่าไฟพิเศษ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการพิเศษ อัตราค่าบริการการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ค่าไฟฟ้าเกาะ และอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่า จะประกาศได้ในต้นปี 2562 ขณะที่เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจหลากหลายของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งเน้นการรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งระบบ

เป็นการส่งสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า หากมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่เข้ามาและสามารถทำงานได้อย่างสอดรับกับกระทรวงพลังงานยุค 4.0 แล้ว กลุ่มทุนพลังงานที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนรายงานฉบับ “อื้อฉาว” ก่อนหน้า ที่มีเป้าหมายต้องการ “บอนไซ” กิจการพลังงานของประเทศ ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนเพื่อกรุยทางไปสู่การแข่งขันอย่างเสรีนั้น คงจะสมหวังอย่างแน่นอน และเชื่อว่าภารกิจของบอร์ด กกพ. ใหม่นั้น จะมีการทบทวนการออกใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า LNG ให้กับกลุ่มทุนดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย

แน่นอน! ในแง่ของการส่งเสริมบทบาทของเอกชนให้เข้ามาแข่งขันในกิจการพลังงานนั้น ย่อมถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเพรียกหา แต่หลังฉากของการรุกคืบปรับและโละบอร์ด กกพ. ที่ว่านี้ยังมี “วาระซ่อนเร้น” ที่ก้าวไปอีกขั้น เพราะหากกลุ่มทุนพลังงานที่วันนี้ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าอยู่ในมือเกินกว่าครึ่งที่ กฟผ. ใช้เวลาถึง 50 ปีในการสร้างและสั่งสมขึ้นมา

และหากกลุ่มทุนดังกล่าวสามารถรุกคืบไปถึงจัดหาและนำเข้า LNG ที่ถือเป็นวัตถุดิบ “ต้นน้ำ” ป้อนโรงไฟฟ้าของตนเอง และยังได้รับการเกื้อหนุนจากภาครัฐให้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศได้ โดยที่ภาครัฐเองยังให้การสนับสนุนเงินลงทุนระบบสายส่งให้ด้วยอีก  

ต้นทุนความได้เปรียบที่มีเหล่านี้ ย่อมเป็นหลักประกันที่เชื่อแน่ว่าจะทำให้กลุ่มทุนพลังงานรายนี้ สามารถจะรุกคืบ “กินรวบ” พลังงานของประเทศในอนาคตได้อย่างแน่นอน !!!