แม้รัฐบาลคสช.จะประกาศนโยบายปราบปรามมาเฟียเงินกู้นอกระบบอย่างถึงพริกถึงขิง โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)แต่ละจังหวัดสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการปราบปรามเครือข่ายนายทุนเงินกู้นอกระบบกันอย่างเข้มข้น กวาดจับบรรดาแก๊งนายทุนขูดรีดเอาเปรียบประชาชนระดับรากหญ้ากันไม่เว้นแต่ละวัน
ขณะที่กระทรวงการคลังก็เตรียมรุกคืบตีทะเบียนผู้ให้บริการเงินกู้ทั้งหลายเหล่านี้ โดยเตรียมยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ทั้งหลายแหล่เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
เช่นเดียวกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีเดย์ออกประกาศให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงบรรดาธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเหล่านี้ด้วยไม่ให้มีช่องตีกรรเชียง เลี่ยงบาลีกันได้อีก
แต่ยุทธการปราบปรามเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่เข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายหนี้นอกระบบตลอดช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ดูจะกวาดล้างได้แต่แก๊งเงินกู้ประเภท “ปลาซิวปลาสร้อย” เท่านั้น ขณะผู้ประกอบการเงินกู้รายใหญ่ที่ป่าวประกาศว่าให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียรถที่อ้างว่าถูกกฎหมายได้ใบอนุญาตจากทางการ แต่พฤติการณ์ปล่อยกู้แทบจะแยกแยะไม่ออกเลยว่า ต่างไปจากบรรดานายทุนเงินกู้นอกระบบที่รัฐกำลังกวาดล้างอยู่นี้อย่างไรนั้นยังคง “ลอยนวล”
ล่าสุดนี้เราจึงได้เห็นธุรกิจเหล่านี้ยุงคงตีปี๊บผุดแคมเปญปล่อยกู้ ให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ยังโขกดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและบังคับลูกหนี้โอนหลักทรัพย์ค้ำประกันกันต่อไป อย่างบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ในเครือแบงก์ต่างชาติ ยังคงมาเหนือเมฆผุดแคมเปญใหม่ที่อ้างว่าเป็นสินเชื่อรายย่อย“นาโนไฟแนนซ์”แต่สัญญาที่จับลูกหนี้เซ็นไว้นั้นกลับพ่วงเอาสัญญาจำนำทะเบียนรถที่ทำเอาวงการด้วยกันได้แต่อึ้งกิมกี่ เพราะเป็นการผนวกสินเชื่อ 2ฟากฝ่ังมามัดตราสังฉบับเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผุดแคมเปญสินเชื่อเช่าซื้อรถและจำนำทะเบียนใหม่ มีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเช่าซื้อแบบโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับรถจักรยานยนต์กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.50% ต่อเดือนหรือเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 31.72% ส่วนรถเก๋ง กระบำ รถตู้ รถบัสหรือรถบรรทุก กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตั้งแต่ 1.00-1.75% ต่อเดือน(แล้วแต่ปีรถ) ซ่ึงเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 21.46%-36.74% รถไถ รถแทรกเตอร์ อัตราดอกเบี้ย 1.25-1.75% ต่อเดือน เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 26.62-36.74% ต่อปี
ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อคงที่ 0.85% ต่อเดือนเท่ากับดอกเบี้ยจริง 18.32% ต่อปี สำหรับการซื้อจากดีลเลอร์ และ 2% ต่อเดือนสำหรับการซื้อรถบรรทุกมือ 2 โดยท่ัวไป ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 41.70% ต่อปี แต่หากเป็นสินเชื่อรถแบบไม่โอนกรรมสิทธิ์(โอนลอย) ภายใต้สัญญาเงินกู้สำหรับรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้หรือรถบรรทุกกำหนดอัตราดอกเบี้ย 0.68% ต่อเดือน เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 14.74%ต่อปี
“ถือเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่รู้ว่าดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตใดกันแน่ เพราะหากเป็นเชื่อรายย่อยนาโนไฟแนนซ์ที่กระทรวงการคลังให้ใบอนุญาตไปนั้นต้องเป็นเงินกู้ไร้หลักประกันเท่านั้น จึงยอมให้ผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36 % ไม่ใช่ปล่อยกู้ไปโดยบังคับให้ลูกหนี้ต้องเอาทะเบียนรถมาค้ำประกัน ขณะที่หากเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีการเรียกหลักประกันหรือบังคับหลักประกันเอาจากลูกหนี้ด้วยนั้นจะต้องดำเนินการตาม พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2560ที่กำหนดให้ผู้ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้สูงสุดไม่เกิน 15% เท่านั้น”
ล่าสุดนี้เห็นว่ามีลูกหนี้หลายรายเริ่มตบเท้าลุกขึ้นมาร้องทุกข์ฟ้องอาคืนบริษัทกันแล้ว ซึ่งก็คงต้องปูเสื่อรอดูกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะจัดการอะไรได้แค่ไหน เพราะก่อนหน้ากลุ่มลูกหนี้อย่างเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ หรือตัวลูดหนี้เองบางรายเคยพยายามเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการกับปัหาแต่เรื่องก็หายเข้ากลีบเมฆ
ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้พยายามป่าวประกาศว่าตนเองไม่ได้ให้บริการเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง แต่เป็นบริการสินเชื่อจำนำทะเบียน พยายามเอาตัวเองไปเปรียบกับบรรดาโรงตึ๊งจำนำทองหรือข้าวของเครื่องใช้อะไรทั้งหลายแหล่ ที่ลูกค้าจำนำ 3-5 เดือนจะคิดดอกเบี้ยล่วงหน้าเสร็จสรรพ หากไม่มาไถ่ถอนปล่อยให้ตั๋วขาด ก็ต้องขายทอดตลาดหลักประกันหนี้ไป
แต่ที่มันต่างออกไปก็คือบรรรดาโรงตึ๊งทั้งหลายแหล่ทั้งโรงตึ๊งของรัฐ จะสถานธนานุเคราะห์ สถานธนานุบาลของ รัฐ กทม.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)และโรงตึ๊งเอกชนนั้น เขามี พรบ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505 และที่แด้ไขเพ่ิมเติมปี 2551 และยังมีกฎหมาย กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำกับอยู่ไม่รู้กี่สิบฉบับ กำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำเอาไว้ตามกฎหมาย ยังไงก็ไม่เกิน 15%ครับ แถมยังคิดดอกเบี้ยตามขั้นบันได มี โปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าประเภทต่ำกว่า 5,000 ดอกเบี้ยแค่ 0.25%ต่อเดือน 5,000-30,000 ดอกแค่ 1.0% ต่อเดือนและสูงสุดยังไงก็ไม่เกิน 15%ต่อปี
แต่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ธุรกิจเหล่านี้อ้างกันอยู่นั้น กลับพยายามอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย อาศัยใบอนุญาตรัฐที่เปิดช่องให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฉวยโอกาสขูดดอกเบี้ย เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเอากับ ลูกหนี้ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจะมือ 1 มือ 2 ก็หลบหลีกทำสัญญาเช่าซื้อหรือลิสซิ่งที่ต้องเสียภาษีแวต หันไปทำสัญญาเงินกู้แบบโรงตึ๊งประเภท 3 – 6 เดือน โขกดอกเบี้ย –ค่าธรรมเนียม ค่า ติดตามทวงหนี้สารพัด หากขาดส่งค่างวดก็พร้อมตามไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ไปขายทอดตลาดฟันกำรี้กำไรกันเปรมปรีด์
ต้องย้อนถามกลับไปยังรัฐและกระทรวงการคลัง เมื่อไหร่จะตื่นขึ้นมาคืนความสุขปกป้องคุ้มครองผู้คนระดับรากหญ้า ไม่ให้ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจที่ทำนาบนหลังคนเหล่านี้เสียที! รัฐไม่ฉุกคิดสักนิดเลยหรือว่า ธุรกิจให้บริการการเงินป้าที่ไหนที่แทบไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ระดับ “ไวท์คอลล่าร์”ที่มีความรู้ความสามารถมากลั่นกรองการปล่อยสินเชื่อ ไม่ต้องพิจารณาความเสี่ยงอะไรให้ยุ่งยากแต่กลับมีพอร์ตระดับหมื่นล้าน หรือเฉียดแสนล้าน โดยแทบไม่มีหนี้เสีย!
ขณะที่แบงก์หรือสถาบันการเงินที่คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำกับดูแลสุดเข้มข้น ตัวแบงก์เองก็ต้องใช้บุคคลากรที่ล้วนมีความรู้ความสามารถ กลั่นกรองการปล่อยสินเชื่อ สแกนลูกหนี้อย่างถึงพริกถึงขิง แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องขวัญผวากับปัญหาหนี้เสียเป็นรายวันกันอยู่เลย
:เนตรทิพย์