“เงินติดล้อ”มาเหนือเมฆ!ผุดแคมเปญใหม่ เย้ยมาตรการคลัง เผยยังคงเดินหน้าทำสัญญามัดมือชกบังคับหลักประกันลูกหนี้ต่อ ด้านเครือข่ายพิทักฺษ์สิทธิลูกหนี้จี้คลังเร่งตรวจสอบก่อนรากหญ้าตกเป็นเหยื่อ ขณะลูกหนี้เรื่มตบเท้าแจ้งความเอาผิดโขกดอกเบี้ยขัด กม.แล้ว
แม้รัฐบาลและกระทรวงการคลังจะประกาศนโยบายปราบปรามเงินกู้นอกระบบ พร้อมเตรียมควบคุมผู้ให้บริการเงินกู้ -สินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั้งหลาย โดยเตรียมยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานกำกับดูแลสินเชื่อทั้งระบบเหล่านี้
แต่ล่าสุด บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ยังคงมาเหนือเมฆด้วยการผุดแคมเปญใหม่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพ “นาโนไฟแนนซ์” ควบสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
โดยจากการตรวจสอบสัญญาเงินกู้จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ของลูกจ้างรายหนึ่งในองค์กรของรัฐที่ทำสัญญาเงินกู้กับบริษัทพบว่า บริษัทได้นำเอาแบบฟอร์มที่อ้างว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อช่วยคนมีรถที่อ้างว่าเป็นสินเชื่อรายย่อยนาโนไฟแนนซ์ให้ลูกหนี้กรอกข้อความเพื่อดำเนินการจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์อีกต่อ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ทั้งยังกำหนดให้ลูกหนี้เซ็นโอนลอยหลักประกันไว้ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประกาศแคมเปญและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถและจำนำทะเบียนใหม่มีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเช่าซื้อแบบโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับรถจักรยานยนต์กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.50% ต่อเดือนหรือเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 31.72% ส่วนรถเก๋ง กระบะ รถตู้ รถบัสหรือรถบรรทุก กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตั้งแต่ 1.00-1.75% ต่อเดือน(แล้วแต่ปีรถ) ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 21.46%-36.74% รถไถ รถแทรกเตอร์ อัตราดอกเบี้ย 1.25-1.75% ต่อเดือน เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 26.62-36.74% ต่อปี
ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อคงที่ 0.85% ต่อเดือนเท่ากับดอกเบี้ยจริง 18.32% ต่อปี สำหรับการซื้อจากดีลเลอร์ และ 2% ต่อเดือนสำหรับการซื้อรถบรรทุกมือ 2 โดยทั่วไป ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยจริง 41.70% ต่อปี แต่หากเป็นสินเชื่อรถแบบไม่โอนทะเบียนภายใต้สัญญาเงินกู้สำหรับรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้หรือรถบรรทุกกำหนดอัตราดอกเบี้ย 0.68%ต่อเดือน เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 14.74%ต่อปี
“ถือเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่รู้ว่าดำเนินการตามใบอนุญาตใดกันแน่ เพราะหากเป็นเชื่อรายย่อยนาโนไฟแนนซ์ที่กระทรวงการคลังให้คิดดอกเบี้ยได้ถึง 36% น้ัน ต้องเป็นเงินกู้ไร้หลักประกันเท่านั้น ไม่ใช่ปล่อยกู้แบบมีหลักประกันคือทะเบียนรถ และหากเป็นสัญญาเช่าซื้อยังต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ด้วย ขณะที่หากเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีการเรียกหลักประกันหรือบังคับให้ลูกหนี้เซ็นโอนลอยหลักประกันจะต้องดำเนินการตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ผู้ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 15% เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐและกระทรวงการคลังต้องเร่งเข้ามาตรวจสอบก่อนประชาชนจะถูกเอาเปรียบไปมากกว่านี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุด ลูกนี้สินเชื่อของบริษัทเงินติดล้อหลายรายได้ทะยอยเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสถานี อาทิ สภ.บางกรวย นนทบุรี และ สภ.สำโรงเหนือ สมุทรปราการเพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัทฐานดำเนินการปล่อยกู้ขัด พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งล่าสุดเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.บางกรวย ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือจาก สน.บางซื่อให้จัดส่งหมายเรียกไปยังกรรมการบริษัท เงินติดล้อ จำกัดและพนักงานสาขารวม 7 ราย เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวและรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.บางกรวยในวันที่ 20 กรกฎาคมศกนี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในวันที่ 23กรกฎาคมนี้ ศาลตลิ่งชันมีกำหนดจะเปิดการไต่สวนฟ้องแบบกลุ่มกรณีลูกหนี้รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัทเมืองไทยแคปปิตอล(MTC) หรือบริษัทเมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัดเดิม กรณีปล่อยเงินกู้ขัดกฎหมายพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นอีกกรณีของการยื่นฟ้องแบบกลุ่มของลูกหนี้ที่สุดทนต่อเจ้าหนี้ในครั้งนี้