ไม่พลาด!”เซ็นทรัล”โดดร่วมไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

0
249
“เซ็นทรัล” รับซื้อซองไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน หวังลุยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสัน – ศรีราชา 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุมีโอกาสร่วมกลุ่มทุนไทย ประเมินผู้เล่นในสนามชิงประมูล 5-6 กลุ่ม 
นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยถึงสาเหตุของการเข้าร่วมซื้อซองเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า เซ็นทรัลเข้าร่วมซื้อซองเอกสารเพื่อนำมาศึกษา แต่จะตัดสินใจลงทุนหรือไม่นั้นยังไม่ได้สรุปแน่ชัด อย่างไรก็ดี โอกาสที่มองเห็นสำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการในครั้งนี้ คือการเข้าไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างสถานีมักกะสัน เพราะเป็นธุรกิจที่เซ็นทรัลมีความชำนาญ
“เราไปซื้อซองเพื่อนำมาศึกษาก่อน ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องลงทุนหรือไม่ เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลักของเราอยู่แล้ว หากจะเข้าประมูลก็ต้องเข้าเป็นกลุ่ม และทีโออาร์ก็กำหนดไว้ว่าใครจะร่วมกลุ่มจำเป็นต้องซื้อซองเอกสาร ดังนั้นการไปซื้อซองครั้งนี้ก็เพื่อไม่ปิดกั้นโอกาสตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมามีเอกชนหลายกลุ่มเข้ามาคุย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนไทย”
สำหรับการประเมินแนวโน้มการแข่งขันของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนั้น มองว่าเอกชนที่เข้าร่วมซื้อซองรวม 31 ราย อาจจะมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นกิจการร่วมค้า หรือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อประมูลรวม 5 -6 กลุ่ม โดยในส่วนของเซ็นทรัลไม่ได้ปิดกั้น และมีการเจรจากับหลายกลุ่มทุน เพราะมองว่าโครงการใหญ่เช่นนี้จะต้องรวมกลุ่มกันเข้าประมูล
“การลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นเพียงส่วนน้อยของมูลค่าการลงทุนในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพราะมูลค่ารวมมีมากกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งแต่ละกลุ่มก็อาจจะต้องมีผู้ร่วมทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลายราย ทำให้เซ็นทรัลประเมินว่างานที่จะได้ในโครงการนี้จะอยู่ในหลักไม่กี่หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะได้เข้าร่วมประมูลหรือไม่ มองว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็ก และส่วนตัวรู้สึกไม่ซีเรียสหากจะได้หรือไม่ได้งาน”
นอกจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินแล้ว เซ็นทรัลยังมองโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ในพื้นที่โซน A (35 ไร่) ที่จะเปิดประมูลในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลตอบแทน และกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ เพราะแนวคิดการพัฒนากำหนดเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส ที่มีทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และออฟฟิศ
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการลงทุนพัฒนาโครงการในลักษณะใหม่และไม่เคยมีมาก่อน อย่างพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสัน และสถานีกลางกลางซื่อ ความคุ้มค่าหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของการลงทุน ดังนั้นต้องศึกษาตลาดอย่างรอบคอบ แต่มองว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีหลายโครงการเช่นนี้ เพราะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมานับว่าไม่เคยมีการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากนี้อยากให้รัฐบาลมองโอกาสในการพัฒนาไฮสปีดเทรนเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ในระยะ 100 กิโลเมตร (กม.) เพิ่มเติม เช่น อยุธยา